พระครูกล่าวว่าความสุขนั้นเป็นกำไรของชีวิต ความทุกข์นั้นเป็นการขาดทุน วันใดที่เราปรุงแต่งมากคิดมาก วันนั้นเราขาดทุน วันใดเราปรุงแต่งน้อยมีจิตดี จิตสบาย จิตสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสบาย ฝนตกก็สบายไม่บ่นว่าเปียกแฉะ แดดออกก็สบายไม่บ่นว่าร้อน หิวก็สบาย อิ่มก็สบาย คำว่าสบายคือ คำกลางๆ เปรียบได้กับคำว่า "อะยัง ภิขะเว มัคโค" หมายถึงทางสายเอก มรรคมีองค์ 8 ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา (ศีลก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ ส่วน สมาธิ คือ สัมมาวายามะ สัมมมาสติ และ สัมมาสมาธิ และ ปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เมื่ออริยมรรคมีองค์ 8 เกิดขึ้น ก็มี ศีล สมาธิ และ ปัญญาด้วย)
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง รู้แจ้งอริยสัจ 4 ทุกข์เหตุใดเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ก็ปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เนื่องด้วยมีมรรคมีองค์ 8 การเดินทางสายเอก เป็นที่ไปของบุคคลผู้เดียว คือ บุคคลไหนปฏิบัติก็ได้แค่บุคคลนั้น ไม่ใช่ภรรยาปฏิบัติแล้วสามีจะไปด้วยก็ไม่ได้ พ่อแม่จะไปด้วยก็ไม่ได้ เดินทางสายเอกไปได้เฉพาะบุคคลผู้ปฏิบัติเท่านั้น
พระนักเทศน์ท่านนี้ได้หยิบยกประเด็นนิวรณ์ธรรมว่าเป็นสิ่งสกัดกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เช่น กามฉันทะ ถ้าเรามียินดียินร้ายในรูป รส เสียง จิตไม่สงบ, พยาบาท ถ้าเรามีความคิดอาฆาต คิดเบียดเบียน จิตของเราก็ไม่สงบ เพราะฉะนั้นถ้าทำจิตให้เป็นหนึ่งได้เราถึงจะดับนิวรณ์ได้
เราเกิดมาเพื่ออะไร? เราเกิดมาจากไหน? มาอยู่โลกใบนี้เพื่ออะไร? แล้วเราจะไปไหน? เราจะให้คำตอบตัวเองได้ไหม เรื่องนี้เป็นการอุปมาที่เห็นชัดว่าหมากรุกจะเดินแต่ละครั้งต้องคิดแล้วคิดอีก แต่ชีวิตของเราได้ตั้งเข็มทิศชีวิตไหมว่าจะไปทางไหน ตั้งไว้แล้วหรือยัง เพราะโอกาสจะเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ง่าย
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึง "นิสมฺม กรณํ เสยฺโย" คิดให้ดีเสียก่อนค่อยทำอะไรลงไป ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกสูตรที่คิด จะไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น เมื่อยอมหยุดจะเห็นธรรมะ เมื่อ ยอมละจะเห็นความพ้นทุกข์ เราไม่หยุดใครจะมาสอนเราให้หยุดได้ นอกจากเราจะหยุดเอง เราต้องสอนตัวเอง
พระครูเกษมวรกิจยังได้สอนวิธีง่ายๆ ก่อนหายใจเข้าให้หยุดเตือนจิตของเราไว้ 3 วินาที เพื่อเตรียมพร้อมกำหนดลมหายใจหยุดตรงไหนชัดเจนให้เอาตรงนั้น ให้คิดดูว่าตอนที่เราหยุดลมหายใจเราคิดเรื่องอะไรบ้าง รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ รู้แพ้ รู้ชนะ มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา ถ้าไม่มีคือสงบแล้ว ถ้าเราเห็นลมหายใจขึ้นเราเห็นจิตเรา ถ้าไม่เห็นลมหายใจแสดงว่าไม่เห็นจิต เพราะสติกำหนดอยู่ที่ใดจิตของเราอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นสติเป็นธรรมเอก เป็นอธิปไตย มีสติเป็นใหญ่ มีปัญญาเป็นยิ่ง มีวิมุตติเป็นแกร่ง มีอมตะเป็นที่หยั่งลม มีนิพพานเป็นที่สิ้นสุด
คนเราเมื่อสร้างปัญหาขึ้นมา ปัญหาเกิดจากตัณหา เป็นบ่อเกิดของตัณหา กรรมตัณหา เราจะทำยังไงให้ชีวิตของเรามีความสุข เราจะทำอะไรที่ใดก็ได้ แต่ขอให้มีสติ เพราะฉะนั้นหัดทำจิตให้เป็นหนึ่ง กำหนดลมหายใจเล็กน้อย เวลากำหนดลมหายใจจะเห็นว่าจิตของเรามีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ตัณหาจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็อยู่ใต้ธรรมะพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่เหนือโลก ความละวางเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เพราะฉะนั้นถ้าอยากมีความสุขต้องรู้จักปล่อยวาง ธรรมะอันใหญ่ที่สุดคือการปล่อยวาง วางแล้วต้องปล่อย เหมือนจิตที่อาศัยอานาปานาสติให้อยู่ในอารมณ์เดียว ผู้มีความเพียรจึงจะพ้นทุกข์ได้
สำหรับผู้ที่สนใจข้อคิดดีๆ แบบนี้ สามารถเข้ารับฟังธรรมบรรยายกับโครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ ชั้น 11 ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12.00 – 13.30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit