ผู้ถือหุ้น TSI Insurance ไฟเขียวเพิ่มทุนวงเงิน 1,244 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าสร้างธุรกิจ ตั้งเป้าเบี้ยรับ 1,400 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

01 Jul 2019
นายธนพล บุญวรุตม์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TSI Insurance เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯจาก 1,326,518,451 บาท เป็น 1,081,754,992 บาท ด้วยการยกเลิกหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 244,763,459 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท และให้ลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 540,877,496บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 1,081,754,992 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 540,877,496 บาท โดยการลดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (Par Value)จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทลดลง จาก 1,081,754,992 บาท เป็น 540,877,496 บาท เพื่อหักลบส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นและชดเชยผลขาดทุนสะสมบางส่วน โดยมีจำนวนหุ้นคงเดิมเท่ากับ 1,081,754,992 หุ้น
ผู้ถือหุ้น TSI Insurance ไฟเขียวเพิ่มทุนวงเงิน 1,244 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าสร้างธุรกิจ ตั้งเป้าเบี้ยรับ 1,400 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ ในจำนวนไม่เกิน 1,244,018,240.50 บาท โดยแบ่งเป็น การออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน2,163,509,984 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,081,754,992 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) ในอัตรา 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 2 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ และการออกหุ้นสามัญแบบมอบอำนาจทั่วไปเพื่อจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (General Mandate by Right Offering) จำนวนไม่เกิน 324,526,497 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นเงินเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน162,263,248.50 บาท

นายธนพล กล่าวว่า การเพิ่มทุนแบบ (Right Offering) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ TSI Insurance ทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านเงินทุน โดยมีแผนที่จะนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนไปใช้ 3 แนวทาง คือ การขยายงานและเพิ่มสภาพคล่องของบริษัทฯ การใช้เป็นเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามประกาศและข้อกำหนดของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ทั้งเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital) และการดำรงเงินกองทุนอื่นสำหรับการประกอบธุรกิจประกันภัย อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1 ปี 2562 บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ร้อยละ254.35 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่คปภ.กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเครื่องหมาย C ตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ด้านนางสาวอรลดา เผ่าวิบูล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ภายหลังที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนแก้ไขฐานะทางการเงินแล้ว บริษัทฯ กำหนดให้วันที่ 20กันยายน 2562 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบ RO และหลังจากนั้นก็จะเดินหน้าตามแผนธุรกิจในการรุกงานรับประกันภัยคุณภาพด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการบริการลูกค้าควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 1,400 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า

"ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงพัฒนาระบบงานภายในให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนโยบายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งบริษัทฯมีเป้าหมายจะขยายงานรับประกันภัยเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีผ่านมามีการจัดกิจกรรมเดินสายพบปะโบรกเกอร์ตัวแทนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี โดยบริษัทฯ จะนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงเพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มต่อไป" นางสาวอรลดา กล่าว