Seafood Task Force และ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือประมงเพื่อการเลือกจับสัตว์น้ำ ลดการจับลูกปลา และสัตว์น้ำหายากอย่างยั่งยืน

02 Jul 2019
กลุ่ม Seafood Task Force ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของบริษัทอาหารทะเลระดับโลก ภาครัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์จากการกวาดจับสัตว์น้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบติดตามเรือประมง VMS (Vessel Monitoring System) เพื่อป้องกันทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ขาดการควบคุม หรือ (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing)
Seafood Task Force และ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือประมงเพื่อการเลือกจับสัตว์น้ำ ลดการจับลูกปลา และสัตว์น้ำหายากอย่างยั่งยืน

น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนชาวประมง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าของธุรกิจเรือประมงพาณิชย์ หน่วยงานรัฐ และตัวแทนจากภาคเอกชน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเครื่องมือประมงที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดปัญหาการทำประมง IUU ตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะป้องกันการทำประมง IUU และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งแรงงานในภาคการประมง

จากการเยี่ยมชมอุตสาหกรรมประมงอย่างยั่งยืนที่เมืองบริก ซึ่งเป็นท่าเรือประมงสำคัญของประเทศอังกฤษ คณะทำงานได้ศึกษาและชมการสาธิตเครื่องมือประมงแบบต่างๆ เช่น การใช้อวนลากที่แบบพิเศษที่มีตาขนาดใหญ่ให้ลูกปลา และสัตว์ทะเลขนาดเล็กลอดผ่านไปได้ รวมถึงอวนลากแบบบอลลูนซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในประเทศไทยได้

น.สพ. สุจินต์ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องหาทางปกป้องทรัพยากรทางทะเล จากการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยคาดว่าหากนำเครื่องมือประมงที่ถูกกฎหมาย และตรงกับวัตถุประสงค์การจับจะสามารถลดการจับสัตว์น้ำที่ไม่พึงประสงค์ (By-catch) ลงได้ 50%

นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากประเทศไทย ยังได้ศึกษาดูงานบนเรือประมงท้องถิ่น และเรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในอุตสาหกรรมประมงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ และเอกชนของประเทศอังกฤษ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมประมงไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทย และประเทศอังกฤษได้มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยี VMS มาใช้เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมเรือประมงในทะเล และสามารถตรวจสอบการจับปลาที่ผิดกฎหมาย ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยมาตรการของรัฐเจ้าของท่า เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของ FAO (FAO Agreement on Port State Measures to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาขั้นตอนการตรวจสอบเรือเข้า - ออก ท่าเทียบเรือประมง ที่มีการบันทึกข้อมูลเรือ และลูกเรืออย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้เรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย ไม่สามารถออกเรือ หรือนำสินค้าขึ้นฝั่งได้

"สิ่งที่ประเทศไทยได้เรียนรู้จากประเทศอังกฤษจะมีส่วนสำคัญในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน และโปร่งใส รวมถึงแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมประมงไทย" น.สพ. สุจินต์ กล่าว

Seafood Task Force และ ซีพีเอฟ ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือประมงเพื่อการเลือกจับสัตว์น้ำ ลดการจับลูกปลา และสัตว์น้ำหายากอย่างยั่งยืน