นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าพายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในวันที่ 3 - 4 กรกฎาคม 2562 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2562 ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม โดยมีผลกระทบในหลายพื้นที่ ดังนี้ ภาคเหนือ 15 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี กรุงเทพมหานครและภาคกลาง 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สำหรับคลื่นลมบริเวณอันดามันและอ่าวไทย มีกำลังแรง ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร อ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยมีผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ห้ามประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภทในช่วงที่มีคลื่นลมแรง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit