สถานการณ์ตะวันออกกลางตึงเครียดหลังกองทัพสหรัฐฯ พร้อมโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิหร่าน เพื่อตอบโต้อิหร่านที่ยิงโดรนสหรัฐฯ ตก อย่างไรก็ดีประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump สั่งยกเลิกปฏิบัติการ วันที่ 24 ก.ค. 62 สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรายบุคคลต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Ali Khamenei รวมทั้งผู้นำและนายทหารระดับสูง มิให้เข้าถึงแหล่งการเงินซึ่งอิหร่านระบุว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้การเจรจาทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศไม่มีทางจะเกิดขึ้น อนึ่งอิหร่านประกาศจะกลับมาเดินเครื่องเสริมสมรรถนะยูเรเนียม (Uranium Enrichment) วันที่ 7 ก.ค. 62
การประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และจีนช่วงการประชุม G20 วันที่ 28-29 ก.ค. 62 ทั้งสองฝ่ายกลับมาสู่เวทีเจรจาเพื่อหาทางออกของสงครามการค้าระหว่างกัน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ระหว่างที่ยังมีการเจรจาทั้งสองฝ่าย ขณะที่จีนตกลงจะซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น และรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ทำธุรกิจที่ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติกับบริษัท Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน
Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนปริมาณ 12.8 ล้านบาร์เรล ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ 469.6 ล้านบาร์เรล จากปริมาณนำเข้าลดลงจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 6.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10,970 สัญญา มาอยู่ที่ 170,113 สัญญา
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
Bloomberg รายงานโรงกลั่น Philadelphia (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Philadelphia Energy Solutions Inc. (PES) ในสหรัฐฯ จะปิดดำเนินการถาวรในเดือน ก.ค. 62 เพราะเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงทำให้โรงกลั่นเสียหายหนัก ล่าสุด PES เสนอขายน้ำมันดิบ Doba ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล ที่นำเข้าจากประเทศชาดส่งมอบเดือน ก.ค. 62 EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 246,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยี Fracking ผลิต Shale ส่งเสริมให้สหรัฐฯ เป็นผลิตน้ำมันได้จำนวนมากจากแหล่งผลิตใหญ่อาทิ Permian Basin ในรัฐ Texas ผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 มิ.ย. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 16,752 สัญญา มาอยู่ที่ 254,754 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าวันที่ 28 ก.ค. 62 ปิดตลาดลดลงหลังมีรายงานนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle – SPV) ชื่อ INSTEX (Instrument in Support of Trade Exchanges) ที่ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ได้ร่วมจัดตั้งเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่านแทนที่ระบบ SWIFT ได้เริ่มทำการซื้อขายแล้ว อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih แถลงถึงผลการประชุมระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบียว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ควรขยายเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 6-9 เดือน หลังมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. 62 ทั้งนี้จะมีการประชุมของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ที่กรุง Vienna ประเทศออสเตรียในวันที่ 1-2 ก.ค. 62 ด้านผลการประชุม G20 ที่กรุง Osaka ประเทศญี่ปุ่น ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังร่วมประชุมหารือระดับทวิภาคีกับประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน ว่าสหรัฐฯ และจีนจะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับสงครามการค้า โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนครั้งใหม่ระหว่างที่ยังมีการเจรจาทั้งสองฝ่าย ในขณะที่จีนตกลงจะซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มากขึ้น และรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ สามารถทำธุรกิจกับบริษัท Huawei บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก สัญชาติจีนได้แล้ว ตราบเท่าที่อุปกรณ์เหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งนี้การประชุมระหว่างทั้งสองฝ่ายแม้ว่าจะเป็นไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม โดย Goldman Sachs คาดการณ์ รัฐบาลจีนจะออกนโยบายกระตุ้นทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลดอัตราเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) จากเศรษฐกิจประเทศจีนชะลอตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ในเดือน มิ.ย.62 คงที่จากเดือนก่อน ที่ 49.4 จุด ต่ำกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดการณ์ (ค่าดัชนีต่ำกว่าที่ 50 จุด บ่งชี้เศรษฐกิจหดตัว) ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.5-66.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 54.5-58.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.5-65.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอุปทานน้ำมันเบนซินตึงตัวในสหรัฐฯ หลังเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นของบริษัท Philadelphia Energy Solution Inc. (กำลังการกลั่น 330,000 บาร์เรลต่อวัน) อย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 62 ส่งผลให้โรงกลั่นขนาดใหญ่ที่สุดใน East Coast ของสหรัฐฯ ประกาศปิดดำเนินการถาวรเพราะโรงกลั่นเสียหายหนัก ประกอบกับกรมศุลกากรของจีน (General Administration of Customs หรือ GAC) รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีน ที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Oil Demand) ในเดือน พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% อยู่ที่ 2.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 42.4 % อยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรล อีกทั้งสำนักสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซิน (88 RON และ 97 RON) ในเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 28 % อยู่ที่ระดับ 12.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 ปี ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 255,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.24 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 232.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Yokkaichi No.3 (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Idemitsu Kosan ในญี่ปุ่นกลับมาเดินเครื่องหน่วย Crude Distillation Unit (CDU:กำลังการกลั่น 155,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 13 มิ.ย. 62 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ 13 พ.ค. 62 และ บริษัท Pemex ของเม็กซิโกรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 15 % อยู่ที่ 484,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก GAC ของจีนรายงานปริมาณส่งออก น้ำมันดีเซลเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 37.8 % มาอยู่ที่ 9.24 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงาน Arbitrage ส่งออกน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางไปยังยุโรปเปิด โดยบริษัท Aramco Trading และ Shell จ้างเรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ปริมาณ 680,000 บาร์เรลส่งมอบ 1-10 ก.ค. 62 ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 125.4 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม GAC ของจีนรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน ที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Oil Demand) ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 9.1% อยู่ที่ 2.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.02 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.34 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-79.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit