หลังจากที่กระทรวงวัฒนธรรมเชิดชูเกียรติท่านเป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร" ประจำปี พ.ศ. 2562 เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้จุฬาอีกในทันที ในฐานะที่เป็นสถาปนิกไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติยศรับรางวัล Royal Academy Dorfman Award 2019 โดยราชบัณฑิตยสถานด้านศิลปะแห่งสหราชอาณาจักร
"คณะกรรมการมองผมในฐานะคราฟท์แมน (งานศิลปะที่ต้องทำด้วยมือ) ที่มีความเป็นต้นแบบ สามารถเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นพร้อมทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคน และมีจิตนาการสร้างสุนทรียภาพแบบนักกวี ซึ่งคนอื่นไม่มี การสื่อความสั้นๆ แต่สร้างการกระตุกคิดในสำนึกถึงสิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นได้เรียนรู้ผ่านชีวิตมา"
ในขณะที่ผู้เข้าชิงต้องอภิปรายนำเสนอผลงานซึ่งในปีนี้มีชื่อว่า "Architectural Futures" อาจารย์บุญเสริมชนะใจกรรมการด้วยการนำเสนอมิติปัจจุบัน "ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทุกคนกำลังพูดถึงความเจริญขั้นสูง แต่ผมบอกว่า ผมทำสถาปัตยกรรมสำหรับปัจจุบัน ที่มีสังคมให้กับพวกช่าง คนงาน คนชนชั้นแรงงานที่สร้างงานประณีตที่วิจิตร แล้วคุณยังเรียกเขาว่าเป็นกรรมกรอีกหรือเปล่า"
หลักการทำงานศิลปะของอาจารย์คือยกระดับ "คนทำงานก่อสร้าง" เป็น "ช่าง" ให้เป็นอาจารย์ไม่ได้ให้พวกเขายกระดับอิฐเป็นงานศิลป์
"ผมมองพวกเขาในฐานะศิลปิน เราต้องทำงาน ยกระดับคุณค่าจากก้อนอิฐธรรมดาให้มันมีค่าขึ้นมาเป็นงานศิลปะ เมื่อคนเห็นคุณค่า คนก็จะมองถึงเรื่องฝีมือช่าง ... ผมมีหน้าที่ปลุกความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวพวกเขา (ช่าง) ขึ้นมา สร้างอุดมการณ์ให้เขาเชื่อ ถ้างานดีจริงก็จะปรากฏให้ผู้คนเข้ามาดู ช่างภูมิใจมากตัวเขาเองเป็นคนพานักท่องเที่ยวชม หลายคนอยากกลับไปทำมาหากินในบ้านเกิดตัวเอง"
สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เน้นในการทำงานคือเรื่องของการพัฒนาช่างฝีมือคุณภาพสำหรับงานก่อสร้าง และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนผ่านการทำ สถาปัตยกรรมที่ออกแบบสร้าง "นั่นคืองานก่อสร้างของผมยกระดับคุณภาพชีวิตโดยการสร้างโอกาสให้มนุษย์ ไม่ใช่สิ่งของ สร้างให้คนเขามีคุณค่าในความเป็นมนุษย์ขึ้นมา"
เทคนิคการถ่ายทอดของศิลปินศิลปาธรคือ การลงมือทำให้ดู "เพราะผมคือช่าง หน้าที่ของผมต่อไปคือ เผยแพร่ความรู้ในที่ที่ขาดโอกาส งานของผม หนึ่ง คนจะต้องได้เรียนรู้ สอง ต้องได้ใช้งานจริงๆ สาม สร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ทั้งโลก อย่างน้อยคงมีคนที่เอาดี แม้จะเป็นคนเดียวก็ตาม"
สถาปัตยกรรมที่ดีตามฉบับอาจารย์บุญเสริมต้องยั่งยืนและสะท้อนการใช้งาน ผสานวัสดุเพื่อการอยู่ร่วมกันจากความเข้าใจในสังคมพื้นถิ่น อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่อาจารย์เปลี่ยนแนวจากการทำงานออกแบบที่เน้นความสวยงามและวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ มาสู่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัว หาง่าย ราคาถูก และการให้ความสำคัญกับการสร้างคน
"ผมยกตัวอย่างเช่นการใช้อิฐซึ่งมักเป็นวัสดุที่ถูกมองข้ามมาเป็นทรัพยากรที่เราสามารถผลิตได้ในราคาถูก และหาแรงงานมาพัฒนาฝีมือให้สามารถที่จะทำงานร่วมกับวัสดุแล้วสร้างคุณค่าขึ้นได้"
การใช้วัสดุในท้องถิ่นอย่างสุรินทร์ อาจารย์เลือกใช้ 'ดิน' ที่เป็นวัตถุดิบในพื้นที่ เพราะว่าคงทนต่อสภาพอากาศของพื้นที่นั้นๆ ในจังหวัดระยอง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า หรือที่ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนของสภากาชาดไทย อาจารย์ใช้ 'ขี้เถ้าลอย (Fly Ash)' ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อผสมกับคอนกรีตมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าคอนกรีตปกติ
แม้จะเน้นวัสดุรอบตัวในท้องถิ่น แต่อาจารย์ก็เน้นความสมดุลของสิ่งที่ตรงข้าม และให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ "การสร้างบรรยากาศให้รู้สึกความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เราใช้ของที่อยู่ใกล้ตัวธรรมดาๆ เป็นสิ่งที่คนมองข้าม ยกระดับให้เกิดคุณค่าขึ้น ผมไม่ได้ใช้แค่อิฐ ดินหรือไม้เท่านั้น แต่มีโครงสร้างข้างในเป็นเหล็ก เป็นการผสมผสานกันระหว่างวัสดุพื้นบ้านกับวัสดุทางด้านอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลร่วมกัน และยกระดับไปพร้อมๆกัน ไม่สุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง"
วิธีการทำงานของอาจารย์บุญเสริมเริ่มต้นจากวัสดุการก่อสร้างที่จะนำมาใช้ ต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถหาได้จากสิ่งรอบตัว ที่พึงจะมีและสามารถหยิบจับได้ ราคาไม่แพง "นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ติดตัวผมมาตั้งแต่การเริ่มต้นวาดรูปโดยหาอุปกรณ์รอบตัว" สภาพแวดล้อมในวัยเด็กของอ. บุญเสริมค่อนข้างขัดสน แต่นั่นก็สอนให้เด็กชายบุญเสริมอดทนและเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับอุปสรรคปัญหา "เป็นสิ่งที่ชอบมาก ความยากลำบากเป็นสิ่งหอมหวาน" อาจารย์บุญเสริมยิ้ม
"ผมเกิดและโตในบ่อนไก่ พ่อเป็นช่างไม้และต่อมาได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ผมอยู่ในชนชั้นแรงงาน ในวัยเด็ก ผมเห็นการทำงานจริง พ่อสอนให้เราทำงาน มันทำให้ผมเรียนรู้ถึงวิธีการจัดการของช่าง ลงมือทำจริงด้วยสเกลหนึ่งต่อหนึ่ง เมื่อเวลาผมออกแบบอะไรผมจะจินตนาการด้วยสเกลนี้ได้อย่างแม่นยำ"
ของเล่นอย่างเดียวที่มีในวัยเด็กคือ 'ดินสอ' "ผมวาดทุกสิ่งทุกอย่างในจินตนาการที่ผมปรารถนาอยากจะเล่น มันถึงส่งผลมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ผมมีจินตนาการ" ทุกประสบการณ์ความเป็นจริงในชีวิตไม่ว่าจะจาก ที่บ่อนไก่ และการศึกษาจากหลายสถาบันในประเทศเป็นสิ่งที่บ่มเพาะตัวตนและศักยภาพของอาจารย์
"ศิลปากรให้ความรู้ด้านวิชาการและกำหนดตัวตนแก่ผม อุเทนถวายสอนให้ผมรู้จักการลงมือทำจริงในความเป็นช่าง จุฬาฯสอนให้ผมรู้จักหลักการคิด วิธีการวิจัยและเป็นที่ทำงานที่ผมรักมากที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างหล่อหลอมรวมกันเป็นตัวตนของผมในทุกวันนี้"
"ผมไม่คิดว่าทฤษฎีจะเอาไปใช้ได้ทั้งโลกและที่สำคัญในโลกแบบประเทศไทย ที่มีภูมิอากาศ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต รายได้ที่แตกต่างกัน ผมจึงกลับไปย้อนความคิดทบทวน หลังจากวิกฤติปี 40 ว่าผมจะแก้ไขอย่างไร วิธีการทำงานเปลี่ยน แต่มันไม่มีคนเชื่อผม ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ผมต้องอดทนบนเส้นทางวิบากที่ไม่เหมือนใคร"
ตลอดเส้นทางชีวิต ในการเรียน การทำงาน และการสอนคนไม่ว่าในห้องเรียนหรือในพื้นที่ปฏิบัติการ สิ่งที่อาจารย์เน้นคือ ความอดทน
"คุณต้องอดทน ครอบครัวภรรยาผมต้องดีมาก ต้องคอยสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่ผมเชื่อและศรัทธา รู้ไหมว่าหูของผมเกือบพิการตั้งแต่กำเนิด ข้างหนึ่งได้ยินแค่ 30% อีกข้างผมไม่ได้ยินอะไรเลย แต่มันคือแรงผลักดันมหาศาลมันทำให้ผมเข้มแข็ง"
รางวัลที่ได้รับ
Winner of The Royal Academy Dorfman Awards 2019, from The Royal Academy of Arts, London
ศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ปี 2562
Global Award for Sustainable Architecture 2018, UNESCO
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit