สจล. เปิดโมเดลการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน BKK” นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินเก็บน้ำ พร้อมแนะนำร่องพื้นที่ใต้ส่วนเบญจกิติ กว่า 130 ไร่ ช่วยน้ำท่วม 4 เขตใจกลางกรุง

12 Jul 2019
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เสนอแผนการก่อสร้าง "แก้มลิงใต้ดิน BKK" นวัตกรรมไขปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในรูปแบบอ่างเก็บน้ำใต้ดิน เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ โดยมีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติ ช่วยลำเลียงน้ำรอระบายลงสู่ใต้ดินได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร บนขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา จัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที ด้วยต้นทุนการก่อสร้างราว 1,000 ล้านบาท แต่สามารถลดมูลค่าการสูญเสียด้านเวลา และเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท ต่อน้ำท่วมขังหนึ่งครั้งในระยะเวลา 2 ชั่วโมง พร้อมต่อยอดไอเดียนวัตกรรมสู่ถนน และตรอกซอย เพื่อการจัดการน้ำรอระบายครบวงจร ชี้ ย่านประตูน้ำ ย่านราชดำริ ควรมี "แก้มลิงใต้ดิน BKK" ในซอย เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ชั้นใน การมีแก้มลิงจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม
สจล. เปิดโมเดลการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน BKK” นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินเก็บน้ำ พร้อมแนะนำร่องพื้นที่ใต้ส่วนเบญจกิติ กว่า 130 ไร่ ช่วยน้ำท่วม 4 เขตใจกลางกรุง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlofficial

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เทคโนโลยีอันก้าวหน้าในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ให้ความสำคัญและนำร่องผลักดันรูปแบบการพัฒนากรุงเทพมหานคร ไปสู่การเป็น "นครอัจฉริยะ" หรือ "สมาร์ทซิตี้" ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ดี หนึ่งปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพฯ กำลังประสบ และได้รับการพูดถึงจากสังคมเป็นอย่างมาก มิใช่ปัญหา "อุทกภัย" แต่เป็น "ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก" อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การคมนาคม ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของไอเดียนวัตกรรม "แก้มลิงใต้ดิน BKK" ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

"โครงสร้างกรุงเทพฯ เป็น แอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย สูงกว่าถนน และแม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี 'อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ' เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็คือการสร้าง แก้มลิงใต้ดินตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการสร้างแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน และสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร"

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แก้มลิงใต้ดิน BKK เป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่นๆ ของกทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ สจล. มีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา ครอบคลุมย่านเศรษฐกิจชั้นในทั้งย่านพระราม 4 สุขุมวิท คลองเตย และสาทร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะปราศจากปัญหาเมื่อทำการก่อสร้าง และปัญหาเวนคืนที่ดิน โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที โดยคาดคะเนมูลค่าการลงทุนก่อสร้างราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ชั้นใน ย่านดังกล่าว ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำรอระบายอีกต่อไป

"จากการวิจัยพบว่า หากมีพื้นที่น้ำท่วมขังราว 50% ของพื้นที่กรุงเทพ เป็นระยะเวลา 120 นาที จะก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเวลาและเศรษฐกิจสูงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากเราลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงมาเหลือ 15 นาที จะมีมูลค่าการสูญเสียเพียง 60 ล้านบาท หรือเท่ากับสามารถลดมูลค่าการสูญเสียได้กว่า 440 ล้านบาท ในทุกครั้งที่ฝนตกน้ำท่วม และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในระยะเวลาน้ำท่วมขัง 2 ชั่วโมงต่อฝนตกหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 0.0114% นับว่า 'แก้มลิงใต้ดิน' ใช้งบลงทุนที่น้อย แต่สามารถช่วยจัดการปัญหาเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

จากวิเคราะห์ของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. พบว่า พื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนดังกล่าวข้างต้น การมีแก้มลิงใต้ดินจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบระบบส่งน้ำ เพื่อการแก้ไขแบบครบวงจร ต่อยอดการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เช่น การเพิ่มระบบการถ่ายน้ำออกจากแก้มลิงใต้ดินไปยังแหล่งน้ำโดยตรง ซึ่งจะทำให้แก้มลิงใต้ดินสามารถเก็บน้ำรอระบายจากพื้นดินได้เพิ่มขึ้น หรืออย่างการสร้างแก้มลิงใต้ดินในตรอกซอยที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เช่น ย่านราชดำริ ย่านประตูน้ำ เป็นต้น โดยจะทำให้น้ำถูกถ่ายเก็บเข้าสู่แก้มลิงในซอยก่อน ไม่ทำให้ไปท่วมซอยในทันที นอกจากนี้หากมีการประยุกต์นวัตกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมบำบัดสภาพน้ำ ก็จะสามารถนำน้ำที่ถูกเก็บไว้ใต้ดิน กลับมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อีกครั้ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlofficial

HTML::image( HTML::image( HTML::image(