ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 เป็น "พิธีเปิดงานเวทีเครือข่ายลูกโลกสีเขียว" โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว เป็นประธาน พร้อมบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง "พลังเปลี่ยนโลก #เราเปลี่ยนโลกเปลี่ยน" กระตุ้นให้ "คน" เป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ลดผลกระทบต่อโลก และนำไปสู่การสร้างพลังร่วม โดยเฉพาะพลังของเยาวชนที่จุดประกายเคลื่อนไหวและลงมือทำจริงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เป็นผลที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม "หมดเวลาที่เราจะมานั่งโทษกันว่า ใครหรืออะไร เป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้เพื่อฟื้นโลกให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ คือ "เปลี่ยนตัวเรา" เพื่อให้โลกเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราไม่สามารถคิดแบบนิยายวิทยาศาสตร์ว่าต้องมองหา "โลกใหม่" ปฏิบัติการกู้โลกเป็นเรื่องใหญ่ จะทำได้แค่ไหน จะใช้งบประมาณมหาศาลเพียงใด ไม่อาจรู้ได้ แต่ สิ่งหนึ่งที่ทำได้เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ คือ "เปลี่ยนตัวเรา" โดยเริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่จะทำให้ชีวิตต่างๆ ในโลกอยู่ได้ เพราะถ้าชีวิตต่างๆ ในมหาสมุทรอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ ธารน้ำแข็งละลาย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนเมืองร้อนอย่างประเทศไทยอีกแล้ว
ดังนั้น ขอให้เรามั่นใจในการกระทำของเรา และเชื่อมั่นในตัวเราที่จะเป็น "พลังเปลี่ยนโลก" เพราะเมื่อเราเปลี่ยน โลกก็จะเปลี่ยน และเป็นโลกที่ดีกว่าเดิม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต"
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.. จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับคณะกรรมการ และเครือข่ายลูกโลกสีเขียว โดยแสดงความตั้งใจจริงในการสนับสนุนภารกิจของสถาบันลูกโลกสีเขียว ในการมอบรางวัลแก่ผู้ที่อุทิศตนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ "นับตั้งแต่ปี 2542 ที่ได้มีการจัดพิธีมอบ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ขึ้น เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคล ชุมชน เยาวชน และสื่อมวลชน ผู้มีจิตสาธารณะในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม จนเกิดผลสำเร็จอย่างประจักษ์ ล้วนเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า เราทุกคนตระหนักอยู่เสมอ ถึงหน้าที่ในฐานะสมาชิกของโลก ที่ต้องการร่วมประคับประคอง แก้ปัญหา ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรของโลก เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน อันจะดำรงประโยชน์ต่อชีวิตของคนและชุมชนอย่างแท้จริง เป็น "พลังเปลี่ยนโลก" สำคัญ ที่ จะขับเคลื่อนประเทศไทย ให้กลับมีความสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ของพี่น้องไทย สร้างชุมชนและประเทศไทย ให้มีความผาสุก ด้วยวิถีชีวิตพอเพียง บนฐานทรัพยากรที่ทุกคนต่างตระหนักถึงคุณค่า รู้ใช้ รู้รักษา เปลี่ยนตนเอง เพื่ออนาคตทรัพยากรที่สมบูรณ์ต่อไป"
นอกจากนี้ ยังมี เวทีเสวนา "ยกเลิกไม้หวงห้ามตามมาตรา 7 มีแต่ได้กับได้จริงหรือ" เพื่อไขความเห็นมุมมองจากภาครัฐ ชุมชน สู่มุมมองธุรกิจ เสวนา Green Talk "รับไม้ ต่อมือ" ในแนวคิดและการลงมือปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น ห้องเสวนาย่อยรายภาค เพื่อจุดพลังในการรักษ์โลกตามวิถีของแต่ละภาค และ กิจกรรม "ลานภาค" ที่รวมความโดดเด่นของคุณค่าจากทรัพยากรดิน น้ำ คลอง ป่า คน พร้อมด้วย ลานสัมมะปิ หลากหลายเมนูจากภาคต่างๆ
สำหรับในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 เป็น "พิธีประกาศผลและมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 19" โดยได้รับเกียรติจาก นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันลูกโลกสีเขียว และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว เป็นผู้มอบรางวัล จากผลงานที่สมัครเข้ารับการพิจารณาและการสรรหา จำนวนทั้งสิ้น 376 ผลงาน คณะกรรมการ รางวัลลูกโลกสีเขียว ได้ลงพื้นที่พิจารณาผลงานตลอดปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 และตัดสินมอบ "รางวัลลูกโลกสีเขียว" ครั้งที่ 19 แก่ผลงานทรงคุณค่า จำนวน 36 ผลงาน ซึ่งผู้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัลเต็มจำนวน รวมเงินรางวัลสำหรับ 36 ผลงาน เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,005,000 บาท (สามล้านห้าพันบาทถ้วน)
ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้กล่าวแก่ผู้รับรางวัลว่า "สถานการณ์โลกในขณะนี้ จำเป็นต้องมี "คนดีดี" อย่างท่านทั้งหลายจำนวนมาก รางวัลลูกโลกสีเขียว ก็จะยืนเคียงข้างเพื่อหนุนเสริมการทำงาน และเป็นกำลังใจให้"
ก้าวที่ 21 ของสถาบันลูกโลกสีเขียว ยังคงเดินหน้าในภารกิจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกำลังใจ เชิดชู ผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนและประเทศไทย เป็นต้นแบบของคนที่จะส่งต่อ "พลังเปลี่ยนโลก" สู่คนรุ่นต่อไป เพื่อให้เป็นพลังที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนสังคมและชุมชนของตน จนไปสู่ระดับประเทศในอนาคต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit