โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝน ซึ่งเรื่องนี้ สพ.ญ.จิตรลดา ตีระลาภสุวรรณ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จะมาบอกเคล็ดลับ (ที่ไม่ลับ) เกี่ยวกับวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราเพื่อไม่ให้เป็นโรคผิวหนังที่อาจก่อปัญหาหนักอกกังวลใจได้
ก่อนจะไปถึงเรื่องวิธีการดูแล อยากให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังกันก่อน แน่นอนว่าถ้าเป็นช่วงฤดูฝน สาเหตุหลักมาจากความชื้น ซึ่งน้องหมาและน้องแมวของเราอาจติดเชื้อ เช่น ยีสต์ เชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงปรสิตภายนอกต่าง ๆ เช่น เห็บ หมัด ภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักจะมีอาการคัน เนื่องจากในอากาศมีความอับชื้น มีละอองฝุ่นที่น้องสัมผัสหรือสูดดมแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งหากที่อยู่อาศัยมีฝนสาดถึง หรือ น้อง ๆ มีพฤติกรรมชอบออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน โรคผิวหนังก็สามารถมาเยี่ยมมาเยือนได้ง่าย
ส่วนสายพันธุ์ที่มีโอกาสจะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าใครเพื่อน ได้แก่ น้องหมา น้องแมวที่ขนยาว ขนหนา ใบหูปรก หรือ น้อง ๆ ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ภาวะภูมิแพ้ เป็นต้น โดยจะสังเกตเห็นพฤติกรรมการเกา เลีย ถูไถ สะบัด มากเป็นพิเศษ สังเกตที่ผิวหนังจะแดง มีสะเก็ด มีตุ่มแดง ตุ่มหนอง ก้อนเนื้อ ขนร่วง มีกลิ่นตัว รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เจ้าของจะสังเกตได้ชัดในช่วงที่กำลังอาบน้ำให้สัตว์เลี้ยง
สำหรับวิธีการรักษา สัตวแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย โดยมีทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจเฉพาะด้านผิวหนัง เช่น การเก็บตัวอย่างเซลล์ผิวหนัง การเพาะเชื้อ การทดสอบภาวะภูมิแพ้ เมื่อทราบสาเหตุของอาการหรือโรคแล้ว สามารถทำการรักษาทั้งการให้ยาทาน ยาภายนอก การใช้แชมพูยา และการปรับอาหาร
มีเคล็ดลับดี ๆ สำหรับเจ้าของน้องหมาและน้องแมว ควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพผิวหนังและขนของน้อง ๆ อย่างสม่ำเสมอ คอยสำรวจตามตัว โดยเฉพาะบริเวณอุ้งเท้า ใต้ท้อง ขาหนีบ หู รอบก้น ที่มักเกิดความอับชื้นได้ง่าย หากน้องมีพฤติกรรมชอบออกไปวิ่งเล่น ก็ต้องหมั่นทำความสะอาด การอาบน้ำอย่างถูกวิธี และเช็ดเป่าขนให้แห้ง รวมไปถึงการดูแลที่นอนของน้องหมาและน้องแมวให้สะอาดถูกสุขลักษณะ เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้น้อง ๆ ห่างไกลจากโรคผิวหนังได้แล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรทำเป็นประจำ นั่นคือ การป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ การอาบน้ำ ตัดเล็บ เช็ดหู บีบต่อมก้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต้องการข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ รพส.ทองหล่อ ทุกสาขา โทร.02-079-9999 หรือ www.facebook.com/ThonglorPet และ Line: @jaothonglor
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit