'ไทย ไรซ์ นามา’ ลงพื้นที่สุพรรณบุรี แนะนำเทคนิคแก่เกษตรกร เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดโลกร้อน

08 Jul 2019
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง เกษตรกรกว่า 300 รายในจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมเปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ "ไทย ไรซ์ นามา" เรียนรู้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน โดยมีนายสุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวต้อนรับ ฯพณฯเอกอัครราชฑูตเกออร์ก ชมิตท์ เอกอัครราชฑูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน
'ไทย ไรซ์ นามา’ ลงพื้นที่สุพรรณบุรี แนะนำเทคนิคแก่เกษตรกร เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดโลกร้อน

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า "โครงการไทย ไรซ์ นามา ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลางได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบการทำนาในปัจจุบันไปสู่ระบบการทำนาแบบยั่งยืน"

ทั้งนี้โครงการฯ ได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พัฒนาเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจ่ายค่าบริการปรับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ให้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถผ่อนชำระคืนภายหลังได้ในระยะเวลา 3 ฤดูปลูก เงินทุนหมุนเวียนนี้จะเชื่อมโยงกับสินเชื่อสีเขียวของ ธ.ก.ส.ซึ่งให้เงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อเครื่องจักรกลมาใช้ในกิจกรรมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการคาดการณ์ว่า จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.73 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่า เมื่อภาวะโลกร้อนยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงทั่วทุกมุมโลก

ฯพณฯ เอกอัครราชฑูตเกออร์ก ชมิตท์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องภาวะโลกร้อน เราทุกคนต่างตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน เกษตรกรเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็สามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ ผมรู้สึกดีใจที่พวกเราทุกคนร่วมมือกันหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาภายใต้โครงการไทย ไรซ์ นามา และแสดงวิธีการผลิตข้าวรูปแบบใหม่ที่จะช่วยดูแลรักษาธรรมชาติ เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร"

นายสุริยัน วิจิตรเลขาการ รองผู้อำนวยการโครงการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "เทคโนโลยีที่โครงการฯ จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตข้าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะมีด้วยกัน 4 วิธี ได้แก่ เทคนิคการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ซึ่งช่วยทำให้หน้าดินเรียบเสมอกัน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดค่าสูบน้ำมากถึง 50 เปอร์เซนต์ เทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งที่ช่วยให้ระบบรากข้าว การแตกกอ และความสมบูรณ์ของข้าวดีขึ้น เทคนิคการใส่ปุ๋ยตามคำวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุนการใช้ปริมาณปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น และรักษาแร่ธาตุในดิน ทำให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น และวิธีสุดท้ายคือ การจัดการฟางและตอซัง ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรหยุดเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในนาข้าว ลดฝุ่นละอองและหมอกควันในขณะเดียวกัน เกษตรกรสามารถนำฟางข้าวไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ การใช้เทคนิคเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการปลูกข้าวแล้ว ยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวและได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น อีกทั้งยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดจากภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น"

โครงการไทย ไรซ์ นามา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้รับทุนการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 14.9 ล้านยูโร (คิดเป็นเงินไทย 530 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมนี รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์ก และสหภาพยุโรป ผ่าน NAMA facility มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2566

HTML::image( HTML::image( HTML::image(