ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการนำมิติวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและท้องถิ่น ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศในเวทีโลกด้วยการส่งเสริม สืบสานและยกระดับประเพณีของท้องถิ่นขึ้นสู่ประเพณีระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ กระทรวงวัฒนธรรมจึงร่วมกับ จ.เลย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายด้านวัฒนธรรมจัด "งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน มหกรรมหน้ากากนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2562" ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค. 2562 ณ อำเภอด่านซ้าย จ.เลย เพื่อสืบทอดและสร้างความตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมและเชื่อมโยงกับนานาชาติด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิสัยทัศน์ของจังหวัดเลย เน้นท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี
"ปีนี้นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวนแห่ผีตาโขนน้อย ผีตาโขนใหญ่ ขบวนนางรำ และขบวนแห่จากตำบลต่างๆ จากอ.ด่านซ้ายอันงดงามตระการตา ขบวนแห่เจ้าพ่อกวน-เจ้าแม่นางเทียม และคณะพ่อแสน บ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ดีงามแล้ว ยังมีขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งแสดงออกถึงความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แสดงให้เห็นถึงจังหวัดเลย มีความรัก ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน และแสดงออกถึงการอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างยาวนาน แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวจังหวัดเลย รวมไปถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมือง งานหัตถกรรมและงานศิลปะ การแสดงดนตรี การประกวดหน้ากากผีตาโขน รวมทั้งการแสดงหน้ากากนานาชาติ ทั้งนี้ ในปีนี้มีคณะนักแสดงจากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาตอบรับเข้าร่วมงาน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ ลาว และอินโดนีเซีย ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก"ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ทั้งนี้ งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เนื่องจากได้นำเอาบุญประเพณีสองอย่างมารวมกัน กล่าวคือ "งานบุญพระเวส" (ฮีตเดือนสี่) และ "งานบุญบั้งไฟ" (ฮีตเดือนหก) เข้าไว้เป็นงานบุญเดียวกัน งานบุญพระเวสนั้น เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ซึ่งถือว่าจะได้อนิสงส์แรงกล้า บันดาลให้พบ พระศรีอาริยะเมตไตรยในชาติหน้า ส่วนงานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญที่จัดขึ้น เพื่อบูชาอารักษ์ หลักเมืองและถือเป็นประเพณี การขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ในงานบุญหลวงนี้จะมีกองทัพ "ผีตาโขน" ออกวาดลวดลาย และร่วมสร้างความสนุกสนานครื้นเครงให้กับขบวนแห่พระเวสสันดร โดยถือว่า "ผีตาโขน" เป็นสัญลักษณ์แทน คนป่าหรือภูตผี ที่ศรัทธาในพระบารมีขององค์พระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรเสด็จกลับเข้าเมือง เหล่าผีตาโขน จึงตามมาส่งและเกิดเป็นการละเล่น "ผีตาโขน" สืบต่อมา การจัดงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนของอำเภอด่านซ้าย ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน