สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 1-5 ก.ค. 62 และแนวโน้มวันที่ 8-12 ก.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

09 Jul 2019
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

นักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อหลังจีนต้องการให้สหรัฐฯ ยุติการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดเมื่อบรรลุข้อตกลง ซึ่งไม่สอดคล้องกับจุดยืนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศคงมาตรการเก็บภาษีต่อไปสักระยะ เพื่อเป็นหลักประกันให้จีนปฏิบัติตามสัญญา จุดยืนที่แตกต่างส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลาในการเจรจา

Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 246,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยี Fracking ผลิต Shale ส่งเสริมให้สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อาทิแหล่งผลิต Permian Basin ในรัฐ Texas ผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11,000 บาร์เรลต่อวัน (มาอยู่ที่ 4.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย เดือน มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามยังต่ำกว่าข้อตกลงกับกลุ่ม OPEC ที่ 11.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน

InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 6,748 สัญญา อยู่ที่ 248,006 สัญญา

ราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

วันที่ 4 ก.ค. 62 สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ กับอิหร่านลุกลามหลังนาวิกโยธินอังกฤษถูกส่งมาให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในยิบรอลตาร์ ปฏิบัติการบุกยึดเรือบรรทุกน้ำมัน (Very Large Crude Oil Carrier หรือ VLCC) "Grace1" ของอิหร่าน บรรทุกน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรล ที่บริเวณช่องแคบยิบรอลตาร์ ขณะมุ่งหน้าไปยังประเทศซีเรีย โทษฐานที่อิหร่านละเมิดมติการคว่ำบาตรซีเรียของสหภาพยุโรป

รัฐบาลยิบรอลตาร์ ซึ่งเป็นดินแดนในอาณัติอังกฤษ แถลงศาลได้ออกคำสั่งให้กักเรือบรรทุกน้ำมันดิบของอิหร่านเป็นเวลา 14 วัน เพื่อสอบสวนลูกเรือ 28 ราย ในฐานะพยาน โดยจะหาต้นทางและปลายทางเรือ ทั้งนี้เอกสารระบุว่าเป็นน้ำมันจากอิรัก

Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 788 แท่น เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์การประชุม OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 62 มีมติขยายเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. 62 - มี.ค. 63 โดยซาอุดิอาระเบียเห็นว่าการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดิม คือรวม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพียงพอจะทำให้ตลาดน้ำมันโลกมีเสถียรภาพ

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การเมืองโลกทวีความตึงเครียด จากกรณีอังกฤษปฏิบัติการยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอิหร่านบริเวณช่องแคบยิบรอลตาสัปดาห์ก่อน ล่าสุดผู้บัญชาการ Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) ของอิหร่าน Twitter ว่าหากไม่ปล่อยเรือดังกล่าว อิหร่านจะตอบโต้โดยปฏิบัติการยึดเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ ข้อพิพาทดังกล่าวอาจทำให้ค่าประกันภัยเรือและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้อังกฤษยังผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ตามข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan Of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ 5 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, จีน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากบริษัท Huges Hubbard & Read ในฝรั่งเศส มองว่า EU ส่งสัญญาณเตือนหากอิหร่านกระทำการขัดต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ EU จะดำเนินการอย่างจริงจัง ประกอบกับอุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่ม OPEC (14 ประเทศ) ลดลงโดยผลิตน้ำมันดิบต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 57 ทำให้อัตราความร่วมมือ (Compliance Rate) ในการลดปริมาณการผลิตตามเป้าหมายของกลุ่ม OPEC (ยกเว้นอิหร่าน เวเนซุเอลา และลิเบีย) ในเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ 156 % เพิ่มขึ้นจาก พ.ค. 62 ที่ 96 % ให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 30-31 ก.ค. 62 ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump กดดันต่อเนื่อง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยด้าน เทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นหลัง Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมัน Philadelphia Energy Solutions หรือ PES ขนาด 330,000 บาร์เรลต่อวัน ของสหรัฐฯ จะปิดถาวรหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 62 ทำให้อุปทานน้ำมันเบนซินแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ขาดแคลนส่งผลให้ Arbitrage ส่งออกน้ำมันเบนซินจากยุโรปไปสหรัฐฯ เปิด ประกอบกับ โรงกลั่นหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง อาทิ โรงกลั่น Jamnagar ของ บริษัท Reliance Industries Ltd. ในอินเดียหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit: กำลังการกลั่น 1.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ Coker ตามแผนตั้งแต่ 20 มิ.ย. 62 เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ อีกทั้ง บริษัท Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 12.5% และลดลงจากเดือนก่อน 23.8 % อยู่ที่ 5.5 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 810,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.43 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 230.6 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่นรายงานยอดขายน้ำมันเบนซินในเดือน พ.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 5.5 % มาอยู่ที่ 813,000 บาร์เรลต่อวัน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.31 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากโรงกลั่นในจีนทยอยกลับมาดำเนินการหลังซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ อาทิ โรงกลั่น Jinling (กำลังการกลั่น 420,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Luoyang (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ PetroChina, โรงกลั่น Lanzhou (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Urumqi (กำลังการกลั่น 190,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Sinopec อีกทั้ง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 126.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยุโรปเปิด ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 3 ก.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 750,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.59 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุด 29 มิ.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล อยู่ที่ 8.24 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล