WeWork Labs ประกาศความร่วมมือกับโครงการ SPACE-F (สเปซ-เอฟ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช., บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง ecosystem ที่ยั่งยืน เพื่อปั้นสตาร์ทอัพฟู้ดเทคในประเทศไทย โดย SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหารแห่งแรกของโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยจะให้บริการด้านนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม คือ โปรแกรม Incubator สำหรับสตาร์ทที่อยู่ในระยะบ่มเพาะ และโปรแกรม Accelerator สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นี้
ผู้สมัครจะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมในด้านใดด้านหนึ่งดังนี้ คือ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (health and wellness), โปรตีนทางเลือก (alternative proteins), กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ (smart manufacturing), บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต (packaging solution), ส่วนผสมและอาหารใหม่ (novel food and ingredients), วัสดุชีวภาพและสารเคมี (biomaterial and chemical), เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร (restaurant tech), การตรวจสอบควมคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (food safety and quality) และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร (smart food services)
SPACE-F เป็นโครงการในรูปแบบที่ไม่มีการถือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพมีกรรมสิทธิ์ในไอเดียและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตนเอง และเมื่อโปรแกรมสิ้นสุดลงจะมีโอกาสพบปะกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งรวมถึงบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), กองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) และองค์กรต่างๆ ที่มีหน่วยงานลงทุนในสตาร์ทอัพ(Corporate Venture Capital) สำหรับโปรแกรม Incubator มีระยะเวลาสูงสุด 15 เดือน และโปรแกรม Accelerator มีระยะเวลา 3-8 เดือน และด้วยความร่วมมือของ WeWork Labs ในครั้งนี้ บริษัทสตาร์ทอัพจะได้เรียนรู้และได้คำแนะนำจากทั้งเมนเทอร์ชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกแง่มุมเกี่ยวกับธุรกิจ
มิสเตอร์เอเดรียน ตัน หัวหน้าฝ่าย WeWork Labs ของ WeWork ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "WeWork Labs ร่วมสร้างมูลค่าด้วยการให้คำแนะนำ ให้ความรู้และเสริมสร้างความสามารถที่จำเป็นให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ SPACE-F และได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับโลกของ WeWork Labs ตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมโครงการ ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างความก้าวหน้าในเทคโนโลยีทางด้านอาหารด้วยโครงการที่มีความร่วมมือของพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เลือกประเทศไทยในการเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้าน Food Labs program และมีส่วนได้ช่วยทำให้ไอเดียดีๆ จะเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย"
WeWork Labs คือ แพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมของ WeWork ที่ช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเริ่มต้นและผู้ประกอบการวิสาหกิจ ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดตัวโครงการฟู้ด แลบส์ (Food Labs program) ซึ่งโครงการแรกที่มุ่งเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะและมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ ด้วยการดึงผู้ประกอบการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุน มาร่วมสร้างคอมมิวนิตี้แห่งนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในวงการอุตสาหกรรมอาหาร สำหรับในประเทศไทยนั้น WeWork Labs ได้ร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช., บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการร่วมสร้างโครงการ SPACE-F ที่นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้าง ecosystem ด้วยการช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอเดียและปัจจัยต่างๆ ในการเติบโตธุรกิจ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า "เรามีเป้าหมายที่จะสร้างแพลตฟอร์มอันยอดเยี่ยมในการสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ Deep Tech ทางด้านเทคโนโลยีอาหาร และเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ WeWork และใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม Food Labs ในการช่วยเร่ง สตาร์ทอัพให้เติบโตและก้าวไกลออกไปสู่ระดับนานาชาติ การนำจุดแข็งทางด้านนวัตกรรมของเรา ร่วมกับ WeWork Labs จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหารระดับโลก การสร้างงานด้านนวัตกรรม และแสดงความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันบนเวทีระดับโลก"
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เราได้เล็งเห็นว่า นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารสามารถช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่สากล การได้ร่วมมือกับ WeWork Labs จะเป็นการเปิดลู่ทางใหม่เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พิสูจน์ไอเดีย ของพวกเขา ทั้งนี้ เรามุ่งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลกและหวังว่าจะได้ต้อนรับคลื่นลูกใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพฟู้ดเทคที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้"
SPACE-F ตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยจะให้บริการตั้งแต่ห้องแล็บ เครื่องมืออันทันสมัยที่จะช่วยให้การวิจัยและการพัฒนาทางความคิดเป็นไปได้อย่างสะดวก นอกจากนี้การขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยการเข้าถึงพื้นที่ทำงานของ WeWork Labs ได้ใน 60 แห่งทั่วโลก รวมถึงการสนับสนุนของเครือข่ายทั่วโลกของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และโปรแกรมของสนช. ที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพสู่ตลาดต่างประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า"ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่ผนวกกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้นำอุตสาหกรรมในอนาคตด้วยการช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ให้กับพวกเขา เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเสริมสร้างระบบ ecosystem คือสิ่งที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและสร้างผลงานได้ และเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ WeWork Labs ในความร่วมมือครั้งนี้"
ประเทศไทยนับได้ว่า เป็นฮับของสตาร์ทอัพทั้งชาวไทยและนานาชาติ เนื่องจากมีค่าครองชีพที่ไม่สูงมากและมีการดำรงชีพที่ดี ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางของบริษัทผู้ผลิตและให้บริการด้านอาหารจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะกับการริ่เริ่มนวัตกรรมด้านอาหาร และเพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดนวัตกรรมภายในประเทศ สตาร์ทอัพชาวต่างชาติที่
เข้าร่วมในโครงการ SPACE-F สามารถยื่นขอสมาร์ทวีซ่ากับรัฐบาลไทยได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ทั้งนี้จะช่วยดึงดูดสตาร์ทอัพชาวต่างชาติที่มีทักษะให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของคุณสมบัติต่างๆ ในการสมัครและขั้นตอนในการสมัครได้ที่https://www.space-f.co/our-programs
เกี่ยวกับ WeWork
WeWork เป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักสร้างสรรค์ที่ให้บริการด้านพื้นที่ ชุมชนและบริการทั้งทางด้านกายภาพและโลกเสมือนจริงแก่สมาชิกมากกว่า 466,000 คนทั่วโลก ภารกิจของเราคือการรังสรรค์โลกที่ผู้คนทำงานเพื่อสร้างชีวิตไม่ใช่แค่การทำงาน ปัจจุบัน WeWork มีที่ตั้งในกว่า 485 แห่งในกว่า 105 เมืองใน 28 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยนายอดัม นิวแมนน์ (Adam Neumann) และนายมิเกล แมคเคลวีย์ (Miguel McKelvey)ในนิวยอร์ก ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานมากกว่า 11,000 คนทั่วโลก WeWork มุ่งแสวงหา 'นักสร้างสรรค์' จากทุกอุตสาหกรรมและบริษัททั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อมาเป็นสมาชิก พร้อมมอบสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับสมาชิกของ WeWork ในแต่ละประเทศ พร้อมด้วยพนักงานจากในท้องถิ่นของแต่ละเมืองเพื่อบริการ
ข้อมูลเพิ่มเติม เยี่ยมชมเว็บไซต์ www.wework.com
เกี่ยวกับ WeWork Labs
WeWork Labs รวบรวมสตาร์ทอัพในระยะเริ่มแรกที่มีศักยภาพและให้พื้นที่ ชุมชน และโปรแกรมในการช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ เราเป็นพันธมิตรกับ incubators และ accelerators ในประเทศ และธุรกิจใหญ่เพื่อให้การสนับสนุนแบบองค์รวมและระยะยาวแก่สตาร์ทอัพตลอดการเดินทาง ที่ WeWork Labs เราเชื่อมั่นในการทำให้กระบวนการสตาร์ทอัพเข้าถึงได้ง่าย สนับสนุนการมีส่วนร่วม ความหลากหลายและการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน WeWork Labs เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมระดับโลกสำหรับสตาร์ทอัพด้วยพื้นที่ 57 แห่งทั่วโลก ข้อมูลเพิ่มเติม wework.com/labs
เกี่ยวกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก ซึ่ง ส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรม รสชาติดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมาเป็นเวลากว่า 40 ปีวันนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุภาชนะชนิดต่างๆ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมียอดขายต่อปีมากกว่า 133.3 แสนล้านบาท (4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และมีพนักงานทั่วโลกรวมกันมากกว่า 47,000 คน ซึ่งล้วนทุ่มเทเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่มีนวัตกรรมและมีความยั่งยืน
ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Ruegen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่
จากพันธกิจในการเป็นบริษัทแห่งนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ไทยยูเนี่ยนภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของ
อาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF) ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange(R) และดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอด จนส่งผลให้ไทยยูเนียนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่มาตั้งแต่ปี 2557 และในปี 2561 ไทยยูเนี่ยนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ DJSI เป็นปีที่ห้าติดต่อกัน โดยได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 1 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคัดเลือกให้ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index และได้รับอีกหลากหลายรางวัลสำหรับการเป็นผู้นำในการทำงานด้านความยั่งยืน
เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล
มหาวิทยาลัยมหิดล มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งทางด้านวิชาการและด้านวิจัยกับมหาวิทยาลัย สถาบัน และองค์กรระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีบันทึกความร่วมมือหรือบันทึกข้อตกลง (MoU/MoA) มีจำนวน 434 สถาบัน จาก 46 ประเทศ โดยมีขอบข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยและการศึกษา เช่น Tokyo University, Osaka University และ Chiba University จากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรร่วมทั้งสิ้น 18 หลักสูตร โดยแบ่งเป็น Double Degree 14 หลักสูตร และ Joint Program จำนวน 4 หลักสูตร
ทั้งนี้ ขอบข่ายความร่วมมือต่างๆ จะอยู่ในรูปแบบของความร่วมมือของนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการร่วมมือในด้านเงินทุน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการวิจัยในด้าน Data Analysis, Physical, Biomedical และ Preclinical โดยนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติ ร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งที่มีส่วนช่วยในการวิจัยเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit