สหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ : ฮับข้าวเหนียวอีสาน

03 Jul 2019
กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าหนุนสหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างโรงสีข้าวเหนียวของสหกรณ์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวพันธุ์ กข 6 จากสมาชิกนาแปลงใหญ่ในฤดูกาลผลิตปีนี้ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน ป้อนสู่โรงสีเพื่อแปรรูป พร้อมเปิดตัวข้าวเหนียวแบรนด์ SMART RICE บุกตลาดทั่วประเทศ
สหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ : ฮับข้าวเหนียวอีสาน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตร อาจสามารถ จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปข้าวเหนียว กข 6 จำหน่ายในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบกลางปี 2561 ไทยนิยมยั่งยืนให้สหกรณ์จำนวน 24.8 ล้านบาท และสหกรณ์สมทบเพิ่มเติมอีกจำนวน 4.6 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงสี กำลังการผลิต 24 ตัน/วัน โกดังเก็บข้าวเปลือก 2,000 ตัน อาคารจัดเก็บข้าวสารและลานตาก สร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งโรงสีข้าวของสหกรณ์จะเน้นแปรรูปข้าวเหนียวเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ส่วนมากปลูกข้าวหอมมะลิ 105 เพื่อจำหน่าย และต้องซื้อข้าวเหนียวจากที่อื่นมาสำหรับบริโภค สหกรณ์ได้เล็งเห็นโอกาส จึงส่งเสริมให้สมาชิกขยายพื้นที่ปลูกข้าวเหนียว กข 6 และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว สหกรณ์จะรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกป้อนสู่โรงสีและแปรรูปเพื่อจำหน่ายคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

ทั้งนี้ สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์อุปกรณ์การตลาดที่ได้รับจากงบไทยนิยมยั่งยืน รวบรวมข้าวเปลือกเหนียวและแปรรูปเป็นข้าวสารแล้วในรอบแรก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 และในปี 2562 - 63 สหกรณ์ตั้งเป้าการรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือกเหนียวอีกประมาณ 3,000 ตัน จากปัจจุบันที่รวบรวมได้ประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกรที่สมาชิกส่วนหนึ่งและรับซื้อข้าวเปลือกข้าวเหนียวจากเครือข่ายสหกรณ์อื่นอีกส่วนหนึ่งเพื่อมาป้อนธุรกิจ และในอนาคตสหกรณ์ จะพัฒนาธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายข้าวเหนียวให้ครบวงจรทั้งส่งเสริมการผลิต แปรรูปและการตลาด

"ได้แนะนำให้สหกรณ์วางแผนธุรกิจการแปรรูปและจำหน่ายข้าวเหนียว เบื้องต้นต้องหาตลาดให้ชัดเจน ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและเครือข่ายสหกรณ์ด้วยกัน พร้อมทั้งสำรวจดูความต้องการของตลาดว่าต้องการซื้อข้าวเหนียวแบบไหนปริมาณความต้องการมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนส่งเสริมให้สมาชิกปลูก และต้องสร้างแรงจูงใจ ให้สมาชิก โดยกำหนดราคารับซื้อข้าวเหนียวต้นฤดูนี้ให้นำราคาตลาด เพราะที่ผ่านมาราคาข้าวเหนียวไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจจะมีการขยับขึ้นลงเล็กน้อย สิ่งสำคัญคือต้องผลิตข้าวที่มีคุณภาพ สหกรณ์ต้องดูแลสมาชิกตั้งแต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี การดูแลระหว่างการปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิตและหาตลาดมารับซื้อ ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่นที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้สหกรณ์ลองหาช่องทางเปิดตลาดส่งข้าวเหนียวไปจำหน่ายกับเครือข่ายสหกรณ์ในภาคใต้ด้วย เพราะผู้บริโภคยังต้องการข้าวเหนียวคุณภาพมากเช่นกัน" นายพิเชษฐ์ กล่าว

ด้านนายบัญชา พลทิพย์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัด กล่าวว่า ได้รับงบงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืนปี 2561 จำนวน 24 ล้านบาท มาพัฒนาศักยภาพการผลิตของสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปข้าวเหนียว กข 6 ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 1,240 ราย ในพื้นที่ 10 ตำบลของอำเภออาจสามารถ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งสหกรณ์มีแผนขยายธุรกิจแปรรูปข้าวเหนียว กข.6 และยกระดับเป็นสหกรณ์ที่มีโรงสี ข้าวเหนียวขนาดใหญ่เป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังการผลิตรองรับได้ถึง 6,000 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องต่อกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรับรองมาตรฐาน GMP ให้กับโรงสีข้าวของสหกรณ์

การปลูกข้าวเหนียวจะปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 500 กก.เมื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารจะเหลือน้ำหนัก 250 กก. ปีที่ผ่านมาราคาข้าวเปลือกเหนียวอยู่ที่ตันละ 14,000 บาท และเมื่อสีเป็นข้าวสารจะเพิ่มมูลค่าเป็นราคาตันละ 30,000 บาท สำหรับฤดูกาลผลิตปีนี้ สหกรณ์จะรับซื้อข้าวเปลือกเหนียวจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ จำนวน 200 ราย พื้นที่ 2,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,000 ตัน และรับซื้อจากสหกรณ์เครือข่ายในจังหวัดใกล้เคียงอีก 1,000 ตัน โดยสหกรณ์กำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกเหนียวจากเกษตรกรในราคาที่จูงใจและนำตลาด ซึ่งในฤดูการเก็บเกี่ยวที่จะถึงปลายปี สหกรณ์จะพิจารณาตั้งราคารับซื้อใหม่ เป็นราคาที่นำตลาดและจูงใจเกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพื่อเดินหน้าทำตลาดอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะขยาย ตลาดข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น เพราะเล็งเห็นว่าตลาดข้าวเหนียวยังไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากในพื้นที่ภาคอีสานส่วนใหญ่มีแต่ข้าวหอมมะลิ105

"ที่ผ่านมา คนอีสานต้องไปซื้อข้าวเหนียวที่อื่นกิน เช่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูของเชียงราย หรือข้าวเหนียวเขาวงของกาฬสินธุ์ สหกรณ์การเกษตรอาจสามารถอยากทำข้าวเหนียวอีสานให้คนอีสานได้กิน จึงเป็นที่มาของการขอ งบประมาณสนับสนุนเพื่อนำมาพัฒนาโรงสีข้าวเหนียว ขณะนี้สหกรณ์ได้ทำตลาดข้าวเหนียวของสหกรณ์ภายใต้ชื่อยี่ห้อ ข้าวสามารถ SMART RICE ขนาดบรรจุถุง 1 กิโลกรัม และขนาด 2 , 5 , 20 และ 50 กิโลกรัม และเพื่อให้ได้คุณภาพ สหกรณ์จะส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวเหนียวปลอดภัยปลอดสารเคมี โดยดูแลสมาชิกตั้งแต่ปลูก จนถึงเก็บเกี่ยว สำหรับเป้าหมายสหกรณ์ในอนาคตคาดว่าภายในปี 2563 สหกรณ์จะผลิตข้าวเหนียวให้ได้ปีละ 6,000 ตัน" ผู้จัดการสหกรณ์ กล่าว

นางสะอาด กาญจนภี ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตน์ จำกัด กล่าวว่า ทางสหกรณ์ได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์ในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยได้รับซื้อข้าวเหนียวจากสหกรณ์การเกษตรร้อยเอ็ด ในปีที่ผ่านมาจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และต้องการรับซื้อข้าวเหนียวเพิ่มอีกประมาณ 340 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งทางสหกรณ์พร้อมรับซื้อข้าวเหนียวจากสหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัดไม่อั้น โดยสหกรณ์การเกษตรอาจสามารถทำหน้าที่ด้านการผลิต ทางสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตน์ จะช่วยทำตลาดและสอบถามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้การปรับปรุงและพัฒนาข้าวเหนียวตรงใจผู้ซื้อมากที่สุด ซึ่งคำแนะนำที่ได้มาคือ ผู้ซื้อต้องการข้าวเหนียวที่เมล็ดขาวและนุ่ม ซึ่งอาจจะต้องปรับปรุงโรงสีและระบบการสีให้ได้ข้าวตามที่ผู้บริโภคต้องการ คาดว่าข้าวเหนียวในปลายปี 62 จะเป็น ข้าวเหนียวคุณภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดภายใต้ตราสินค้า ข้าวสามารถ SMART RICE ของสหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัด

HTML::image( HTML::image(