ดังนั้นยุทธศาสตร์ทุกระดับจึงเน้นสร้างความมั่นคงด้านน้ำ วางระบบบริหารจัดการในลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยกำหนดให้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่และอำนาจกำหนดระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในลักษณะเป็นก้อน (Block Grant) ตามโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรม (Program-base) และให้สอดคล้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมรายสาขา รวมทั้งกำหนดระบบการติดตามและประเมินผลที่มีความต่อเนื่อง เป็นที่มาของ"แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ" นำร่องในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางตอนบน โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
ล่าสุด แผนงานดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) เป็นโครงการที่ถูกเลือกให้เป็นต้นแบบ แล้วทำไมจึงต้องเป็นที่นี่ ทั้งๆ ที่เป็นโครงการใหม่ระบบชลประทานยังไม่สมบูรณ์ !!
"เพราะความไม่สมบูรณ์เราจึงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง" นายสมเกียรติ อุปการะ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า " เหตุผลที่กรมชลประทานเลือกพื้นที่นี้ เพราะเป็นโครงการเปิดใหม่ มีพื้นที่ชลประทานมาก ระบบฐานข้อมูลมีน้อย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีน้อย และมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก หากทำวิจัยประสบความสำเร็จ ทุกโครงการชลประทานในประเทศไทยก็น่าจะประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน และสาเหตุที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ คบ.ท่อทองแดงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพราะระบบชลประทานที่นี่ไม่สมบูรณ์ ใช้ระบบคลองธรรมชาติเป็นระบบชลประทาน ที่สำคัญแหล่งน้ำต้นทุนของโครงการท่อทองแดง คือ การรับน้ำมาจากเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีผู้ร่วมใช้น้ำเป็นจำนวนมากกว่า 20 จังหวัดตลอดสายตั้งแต่จังหวัดตากไปจนถึงอ่าวไทย ดังนั้น หากเราประหยัดน้ำเขื่อนภูมิพล ที่ คบ.ท่อทองแดงประหยัดได้ จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อีก 20 กว่าจังหวัดท้ายน้ำ"
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) สำนักงานชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน ตั้งอยู่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ลักษณะโครงการเป็นโครงการรับน้ำนอง มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 619,625 ไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 550,688 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอตั้งแต่ อำเภอพรานกระต่าย อำเภอลานกระบือ อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคีรีมาศ อำเภอเมืองจังหวัดสุโขทัย และยังมีพื้นที่รับประโยชน์นอกเขตชลประทานอีก 176,490 ไร่ คืออำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
ที่สำคัญคือ คบ.ท่อทองแดง เป็นโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แห่งแรกของจังหวัดกำแพงเพชร ที่ทรงวางแนวทางไว้และสามารถพัฒนาโครงการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
นายสมเกียรติ เล่าให้ฟังว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน ที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร มีราษฎรหมู่บ้านกิโลสอง บ้านกิโลสาม บ้านกิโลหก และหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค เนื่องจากบริเวณดังกล่าวขาดแคลนน้ำมาก วันรุ่งขึ้นทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว ทรงพระราชทางแนวทางในการดำเนินการโดยใช้วิธีขุดคลองชักน้ำหรือท่อชัดน้ำจากแม่น้ำปิงตามธรรมชาติเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตอำเภอเมือง และอำเภอพรานกระต่าย พร้อมแผนที่พระราชทาน โดยเริ่มดำเนินก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2524 กระทั่งลุล่วงในปี 2528 สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 100,000 ไร่
หลังจากที่มีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้น ได้มีการขยายพื้นที่ชลประทานจาก1แสนไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 5.5 แสนไร่ เนื่องจากเกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะอำเภอพรานกระต่าย พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายมาก เพราะระดับแม่น้ำปิงสูงไม่มากพอ ไม่สามารถไหลเข้าระบบได้ จึงมีการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง สูง 4.5 เมตร ยาว 470 เมตร สันฝายกว้าง 4 เมตร เพื่อยกระดับน้ำแม่น้ำปิงให้สูง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2535 แล้วเสร็จในปี 2536 ทำให้ฝายรับน้ำได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง"
สำหรับที่มาของชื่อ "ท่อทองแดง" นั้น นายสมเกียรติ เล่าว่า "มาจากเมื่อคราวก่อสร้างอาคารปากส่งน้ำบริเวณตลิ่งและขุดคลองชักน้ำบริเวณใกล้ตลิ่ง บริเวณปากคลองท่อทองแดง ระหว่างที่ขุดคลอง พบ ท่อนไม้ขนาดความยาว 4 เมตร กว้างราว 50 เซนติเมตร ลักษณะเป็นการนำไม้ 4 ท่อนมาบากใช้ประกบสี่ด้าน ทำให้ท่อนไม้มีลักษณะกลวงคล้ายกับท่อน้ำ รัดด้วยลวดทองแดงฝังอยู่ในดินตามแนวคลอง สันนิฐานว่าน่าจะเป็นท่อที่สร้างขึ้นในสมัยพระร่วงเพื่อชักน้ำจากแม่น้ำปิงไปตามคลองที่เรียกว่า คลอง"ท่อปู่พระยาร่วง" ซึ่งเป็นแนวคลองโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย จึงเป็นที่มาของชื่อ โครงการชลประทาน"ท่อทองแดง" ซึ่งหมายถึงท่อนไม้ที่ทำเป็นท่อและรัดด้วยลวดทองแดง และเรียกคลองท่อทองแดงตั้งแต่นั้นมา"
ด้วยระยะเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 20 ปี ท่ามกลางความเปลี่ยนของสภาพอากาศ และทรัพยากรน้ำที่ลดน้อยถอยลง กับแหล่งน้ำต้นทุนแหล่งเดียวคือฝน ฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่ คบ.ท่อทองแดง ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากที่สุดในประเทศไทย คือ ราว 5.5 แสนไร่ และยังมีพื้นที่รับน้ำนอกเขตชลประทานอีกประมาณเกือบ 2 แสนไร่ นับเป็นภาระหนัก
หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม คบ.ท่อทองแดง กล่าวว่า "ปัญหา คือ น้ำต้นทุนต้องได้รับการอนุมัติจากกรมชลประทาน ซึ่งทุกสัปดาห์จะมีการอนุมัติว่าสามารถเปิดรับน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพราะยังมีหลายจังหวัดที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลจึงต้องใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด อีกปัญหาคือ การไม่ปฏิบัติตามกติกาการใช้น้ำของเกษตรกรผู้ใช้น้ำ มีการแอบปิดบานเพื่อยกระดับน้ำเข้าพื้นที่ตัวเอง เกิดน้ำท่วมคันคลองเสียหาย บางกลุ่มเกิดความขัดแย้งแย่งน้ำกันระหว่างต้นคลองกับปลายคลอง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่เราก็มีน้อย บางช่วงของคลองมีการรั่วซึมสูง และในช่วงเวลาที่เราได้รับโควตาน้ำในปริมาณที่จำกัด ปริมาณน้ำส่งไปไม่ถึงปลายคลอง เกิดความเดือดร้อนกับพื้นที่เพาะปลูกด้านท้ายน้ำ ซึ่งจะต้องมีการติดตามและควบคุมการส่งน้ำอย่างเคร่งครัด โดยอาศัยหน่วยงานท้องถิ่นและทหารเข้ามาช่วยในบางครั้ง"
ฉะนั้น การที่ คบ.ท่อทองแดงถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง ถือเป็นเรื่องยินดี เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้มีรูปแบบชัดเจน สามารถบริหารจัดการน้ำตามที่กรมชลประทานต้องการ และตามที่เกษตรกรต้องการด้วยเครื่องมือที่มีความน่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบได้ และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อกรมชลประทาน ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบได้อย่างรวดเร็ว จากโครงการเปิดใหม่ที่กลายเป็นโครงการนำร่องได้ในที่สุด