นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล( รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 ได้มีมติให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ หรือที่เรียกว่าเบิร์นเอาท์ (Burnout) เป็นสภาพที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 นับว่าเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพใจที่มักเกิดกับคนวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟนั้น มักจะเกิดกับบุคคลที่สะสมความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไว้มากเกินไป และไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิบัติอย่างเหมาะสม สามารถส่งผลกระทบทั้งร่างกายคือ นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง ส่วนผลกระทบทางอารมณ์จิตใจ บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวน รู้สึกสิ้นหวัง หงุดหงิด อาจถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างได้ง่าย รวมทั้งบางคนอาจหาทางออกในทางที่ผิด เช่นสูบบุหรี่จัดขึ้น ดื่มหนักขึ้น หรือเที่ยวเตร่ ไปทำงานสาย เป็นต้น ผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าคนทำงานประมาณ 1 ใน 4 มีความเครียด โดยร้อยละ60 มีสาเหตุมาจากการทำงาน
ทางด้านแพทย์หญิงภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ประจำรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาเมื่อยล้าหมดไฟ สามารถป้องกันได้ ประการสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มจากตัวเอง โดยมีคำแนะนำแนวทางที่ควรทำ 6 ประการ ดังนี้ 1.ให้ยึดหลักสมดุลชีวิต แบ่งเวลาแต่ละวันออกเป็น 3 ส่วน คือทำงาน 8 ชั่วโมง นอนหลับพักผ่อนเพื่อซ่อมแซมร่างกายอย่างเพียง 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมง ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ทั้งส่วนตัว ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง 2. ควรจัดลำดับงานสำคัญหรือเร่งด่วน 3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน การออกกำลังกายจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ช่วยสลายความเครียดได้อย่างดีและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น 4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะประเภทผัก ผลไม้ ที่มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดี เช่น ผลไม้ที่ให้วิตามินซี เช่น ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม พืชผักที่มีสีเขียวเข้ม เป็นต้น 5. พูดคุยสร้างอารมณ์ขันในหมู่เพื่อนร่วมงาน และ6.เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ขอให้ปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน อย่าอาย เนื่องจากการปรึกษาจะช่วยให้เราคลายข้อคับข้องใจและหาทางออกได้เหมาะสมขึ้น
แพทย์หญิงภรทิตา กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมที่ควรเลี่ยง ลด ละ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาหมดไฟทำงานง่ายขึ้น ที่สำคัญและใกล้ตัวมี 4 พฤติกรรม คือ 1. อย่าทำงานอย่างหักโหม เนื่องจากจะมีผลให้ร่างกายถูกใช้งานมาก เสื่อมโทรมเร็ว ภูมิต้านทานโรคจะลดลง 2.อย่าหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน 3. การใช้เวลาว่างท่องโลกโซเซียลต่างๆ และ4. อย่านำปัญหาในที่ทำงานกลับไปบ้านหรือนำปัญหาจากบ้านไปที่ทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ จะทำให้สะสมความเครียด รวมทั้งเบียดเบียนเวลาในการพักผ่อนให้น้อยลงไปด้วย
สำหรับสัญญานของอาการที่ส่อแววว่าจะหมดไฟทำงาน ประชาชนสามารถสังเกตตัวเองได้ 6 ประการดังนี้ 1. มีความรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขน้อยลง 2. อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ไม่กระตือรือร้น เบื่อเซ็งไม่อยากตื่นไปทำงาน 3. ไม่มีสมาธิในการทำงาน 4. เริ่มมีทัศนคติไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ หรือมองโลกในแง่ลบ รู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถ 5. มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย 6. หาตัวช่วยเพื่อให้มีแรงทำงาน เช่นดื่มกาแฟ สูบบุหรี่จัดขึ้น เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา อาจแก้ปัญหาโดยอาจลางานพักผ่อนสักระยะ จะช่วยผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้น แต่หากรู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังไม่มีความสุข อึดอัดใจ หรือเกิดอาการวิตกกังวลบ่อยๆ สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด24 ชั่วโมง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit