ถกวงเสวนา “ตัวตนดิจิทัลกับสิทธิในข้อมูล เราควรไว้ใจใคร”

05 Jul 2019
วงเสวนา ตัวตนดิจิทัลกับสิทธิในข้อมูล ห่วงเรื่องการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนบุคคลดยไม่ได้รับอนุญาต ย้ำ หน่วยงานกำกับต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้และทำให้สังคม "ไว้วางใจ" เชื่อมั่นได้ว่าใช้ข้อมูล "เท่าที่จำเป็น"

ศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ Change Fusion จัดเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล Thinkers Forum#1 เรื่อง "ตัวตนดิจิทัลกับสิทธิในข้อมูล เราควรไว้ใจใคร" ศ.อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบัน เอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดเสวนาโดยย้ำถึงความสำคัญของ ดิจิทัล นอกจากข้อมูลที่จะบอกว่าเราเป็นใคร ยังรวมไปถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและจะสามารถเชื่อหรือไว้วางใจเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้เพียงใด ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นแต่อาเซียนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน รวมทั้งเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วย ประเด็น ตัวตนดิจิทัล จึงเป็นเรื่องที่ต้องการแลกเปลี่ยนและหารือกันมากขึ้นเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะและแนวทางกำหนดนโยบายรวมทั้งการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เล่าภาพรวมของการออกแบบระบบพิสูจน์ตัวตนอิเลกทรอนิคส์แห่งชาติ หรือ National Digital ID (NDID) ของไทยซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาว่ามีหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนแต่เอกชนเป็นผู้วางระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ตัวตนในระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องไปแสดงตัวเพื่อลดความซ้ำซ้อนและลดขั้นตอนการทำธุรกรรมต่าง ๆ แต่ยังคงต้องรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ให้ไม่ถูกละเมิดหรือเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

" ขณะนี้เราใช้ระบบบัตรประชาชนยืนยันตัวตน แต่ก็ยังพบปัญหาหลายประการ ดังนั้น Platform นี้ ทำสองขั้นตอนคือ เจ้าของข้อมูลทำธุรกรรมแสดงตัวตนด้วยตัวเอง และเมื่อหน่วยงานอื่นต้องการเชื่อมต่อเพื่อขอใช้ข้อมูลส่วนตัวนั้น ๆ ก็ต้องให้เจ้าของกดอนุญาตก่อนจึงจะเอาไปใช้ได้ หน่วยงานอื่น ๆจะไม่มีสิทธิมาขอข้อมูลโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม เป้าหมายคือเมื่อทำระบบเสร็จแล้วจะชวนภาครัฐให้เข้ามาร่วมใช้ เพื่อปกป้องคนไทยตั้งแต่เกิด ทำให้เราแสดงตัวตนออนไลน์ได้สะดวก ได้รับความคุ้มครองและดูแลความเป็นส่วนตัว แล้วต่อไปตั้งเป้าให้ครอบคลุมนิติบุคคลรวมถึงชาวต่างชาติทุกคนที่มาทำธุรกรรมในประเทศไทย"ระบบพิสูจน์ตัวตนนี้ ทั่วโลกมี 2 แบบคือ centralize มีหนึ่งองค์กรเป็นผู้เก็บข้อมูลกลางและกำกับดูแล มีข้อดีคือง่ายใช้หลักฐานชิ้นเดียวยืนยันเชื่อมโยงข้อมูลได้หมด แต่ข้อเสียคือเพิ่มความเสี่ยงให้ทุกคนพร้อมกัน เพราะองค์กรเดียวแห่งนี้จะต้องเก็บข้อมูลเยอะมาก มีความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหล หรือถูกเอาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อีกแบบคือ Federated มีหนึ่งองค์กรกำกับดูแลแต่มีหลายหน่วยงานที่รับช่วงต่อในการ credential พิสูจน์ตัวตน เช่น ไปรษณีย์ หรือธนาคาร มีข้อดีคือกระจายความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล แต่ก็อาจมีจุดอ่อนคือหน่วยงานย่อยที่รับลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนเหล่านี้ก็เสี่ยงจะถูกลักลอบขโมยข้อมูลไปใช้ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ระบบของไทยจึงต้องพัฒนาโดยกำจัดจุดอ่อนของ 2 รูปแบบข้างต้นโดยออกแบบเทคโนโลยีใหม่ น่าเป็นแห่งแรกเพื่อให้เจ้าของข้อมูลสื่อสารกันเองได้โดยตรงไม่ต้องมีองค์กรกลางเก็บข้อมูลเพียงหน่วยเดียว ขณะนี้ร่วมมือกับเอกชนได้ประมาณ 40-50 แห่ง มีงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อดำเนินการแล้ว

ด้าน Dr. Robin Pharoah ผู้อำนวยการ Global Insight Future Agenda กล่าวถึงการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพิสูจน์ตัวตนดิจิทัล โดยได้ทำโครงการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก พร้อมกับตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตและระบบ Digital Identification (DI) จะเป็นอย่างไรก็พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ด้านบวกเช่น ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำธุรกรรมได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีกระบวนการเกี่ยวข้องกับกฎหมาย มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น และทำให้เรามีอิสระในการเลือกตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ และรักษาความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้นรวมทั้งแก้ปัญหาข่าวลวง (Fake News)ได้ด้วย หากใช้ DI นี้ เพื่อแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์

"นอกจาก DI จะรวมข้อมูลส่วนตัวของเราทุกอย่างทั้งข้อมูลพื้นฐานทั่วไปและข้อมูลส่วนตัวแล้ว ยังมีฐานข้อมูลอื่น ๆ อาทิ การสแกนลายนิ้วมือ ม่านตา การจดจำใบหน้า พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การบริโภค รสนิยม ความสนใจ เช่น หากซื้อสินค้าออนไลน์มาก ๆ คนที่รู้ข้อมูลมากที่สุดไม่ใช่หน่วยงานเก็บข้อมูลรัฐ แต่จะเป็นไปรษณีย์ส่งสินค้า หรือตอนนี้ Facebook ก็รู้จักพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากกว่าหน่วยงานรัฐที่มีฐานข้อมูลบัตรประชาชนของเราแล้ว อนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน แต่ใช้ตัวตนบนสื่อออนไลน์แสดงสถานะแทนก็ได้ "

Dr. Robin ตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีไม่เพียงจะนำระบบข้อมูลตัวตนไปอยู่บนโลกออนไลน์เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย แต่ยังหมายถึงการรวมฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังคาดเดาผลอนาคตไม่ได้ ข้อมูลเหล่านั้นยกระดับกลายเป็นสินทรัพย์ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกใช้สำหรับด้านการตลาดและธุรกิจไปแล้วซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงการวางกฎกติกาเพื่อกำกับดูแล ประเด็นสำคัญคือ ต้องดูเงื่อนไขและบริบทของสังคมในเวลานั้นเป็นหลักว่าจะวางแนวทางอย่างไร โดยอาจต้องมองภาพอนาคตในสถานการณ์ที่แย่หรือเลวร้ายที่สุดไว้ก่อน ไม่เพียงมองแต่ด้านบวกของเทคโนโลยีเท่านั้น เพื่อจะได้เห็นภาพรวมทั้งหมด อีกทั้งต้องมีกระบวนการสร้างความไว้วางใจทำให้ระบบโปร่งใสและเชื่อถือได้ ด้านนโยบาย ต้องดูเรื่องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ความปลอดภัยในการใช้งาน การครอบคลุมทั่วถึง และการกำกับดูแลผู้ใช้งาน