นายสุชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจการเดินเรือระหว่างประเทศ มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เนื่องจาก การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 90 ยังขนส่งโดยเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านกำลังแรงงานจำนวนมาก กระทรวงแรงงาน โดย กพร. เล็งเห็นความสำคัญ จึงจัดโครงการพัฒนาบุคลากรตามพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 แก่บุคคลากรของสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ที่มีความพร้อม 20 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับหลักสูตรการฝึกอบรมวิชาชีพคนครัวบนเรืออย่างมีประสิทธิภาพ
อธิบดีกพร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาครั้งนี้ มีจุดประสงค์ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ ภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 และประกาศกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข มาตรฐานการฝึกอบรม พัฒนาและเสริมสร้างทักษะการเป็นผู้ประสานงาน การฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการด้านอาหาร และโภชนาการบนเรือ ตลอดจนนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ในการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้เป็นไปตาม อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานในกิจการทางทะเล ค.ศ. 2006 (Marinetime Convention : MLC 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ทำงานในเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่มีความเสี่ยงภัยมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน และจำเป็นต้องมีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมและถูกสุขอนามัย
ด้านนายประทีป กล่าวว่า สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้เกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของอนุสัญญาแรงงานทางทะเล ค.ศ. 2006 และพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล 2558 รับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับสภาพการทำงานในเรือปัจจุบัน ลักษณะการทำงานของคนประจำเรือ ในตำแหน่งคนครัวบนเรือ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง แนวทางการดำเนินงานตามประกาศกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานการฝึกอบรมและคุณสมบัติของคนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือ นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตามประกาศกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานการฝึกอบรมและคุณสมบัติของคนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือด้วย .
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit