อนึ่ง ในไตรมาส 2/2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจานวน 1,228 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2561 กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 5.2 จากจำนวน 1,551 ล้านบาทในไตรมาส 2/2561
กลุ่มธุรกิจฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 5,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 2,146 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 1,059 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากงวดเดียวกันของปี 2561
สินทรัพย์รวม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 อยู่ที่ 315,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,721 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2561
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
สำหรับไตรมาส 2/2562 สินเชื่อโดยรวมของธนาคารมีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากสิ้นปี 2561 โดยมีการขยายตัวในสินเชื่อเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีการหดตัว ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวร้อยละ 2.7 จากสิ้นปี 2561 ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 ณ สิ้นปี 2561 ทางด้านธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารขายอสังหาริมทรัพย์รอการขายได้ในไตรมาส 2/2562 จำนวน 472 ล้านบาทและมีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์รอการขาย 190 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจตลาดเงินสามารถทำรายได้จำนวน 110 ล้านบาทในไตรมาส 2/2562 ทางด้านธุรกิจตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บล.ภัทร) มีส่วนแบ่งตลาด (SET และ mai ไม่รวมบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท) ร้อยละ 8.89 ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.32 ในไตรมาส 1/2562
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งเงินกองทุนทั้งสิ้นได้รวมกำไรถึงปี 2561 ทั้งปีหลังหักเงินปันผลจ่าย อยู่ที่ร้อยละ 16.13 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 12.37 แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2562 จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 17.29 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 13.53
ธุรกิจตลาดทุน
ประกอบด้วย ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจวานิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน
ธุรกิจนายหน้า (Brokerage Business)
บล.ภัทร ดำเนินธุรกิจให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และตราสารอนุพันธ์แก่ลูกค้าประเภทสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มลูกค้าบุคคลรายใหญ่ภายใต้บริการ Private Wealth Management ซึ่งในกลุ่มนี้บริษัทให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหุ้นกู้อนุพันธ์อีกด้วย สำหรับไตรมาส 2/2562 บล.ภัทร มีส่วนแบ่งตลาด[1] ร้อยละ 8.89 เป็นอันดับที่ 1 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง และบล.ภัทร มีรายได้ค่านายหน้า 306 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 269 ล้านบาท และรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ 37 ล้านบาท นอกจากนี้ บล.ภัทร ยังมีรายได้ค่านายหน้าจากการเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุน 128 ล้านบาท
ธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking Business)
บล.ภัทร ประกอบธุรกิจวานิชธนกิจ ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ในไตรมาส 2/2562 บล.ภัทร มีรายได้จากธุรกิจวานิชธนกิจรวมจำนวน 65 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ที่ปรึกษาทางการเงิน 10 ล้านบาท รายได้การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 11 ล้านบาท และรายได้จากการเป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer Agent) 44 ล้านบาท
ธุรกิจการลงทุน (Investment Business)
ธุรกิจการลงทุนของบริษัทอยู่ภายใต้การดำเนินงาน 2 หน่วยงานหลัก โดยทุนภัทรจะเป็นผู้ประกอบการลงทุนโดยตรงภายใต้การดูแลของ ฝ่ายลงทุน (Direct Investment) ซึ่งรับผิดชอบการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว ส่วนบล.ภัทรดูแลการลงทุนระยะสั้นโดยฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivatives Trading) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ประเภททุน (Equity) และกึ่งทุน (Equity-Linked Securities) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดอนุพันธ์ เป็นการลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยเน้นกลยุทธ์ด้านการหากำไรส่วนต่าง (Arbitrage) รวมถึงการเป็นผู้ออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Financial Products) ตัวอย่างเช่นหุ้นกู้อนุพันธ์ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น
สำหรับไตรมาส 2/2562 ฝ่ายลงทุน มีผลกำไรจากการลงทุนโดยรวมขาดทุนจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์จำนวน 13 ล้านบาท ส่วนฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสามารถทำรายได้จำนวน 63 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้จากการลงทุนอื่นในส่วนของการบริหารเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท ทำให้ในไตรมาส 2/2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมจากธุรกิจลงทุนจำนวน 93 ล้านบาท
ธุรกิจจัดการกองทุน (Asset Management Business)
บลจ.ภัทร ประกอบธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดการกองทุนรวม และใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริการด้านการจัดการลงทุนแก่ลูกค้าบุคคลทั่วไปหรือลูกค้าองค์กร นิติบุคคลที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บลจ.ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนรวมเป็นจำนวน 69,891 ล้านบาทมีจำนวนกองทุนภายใต้การบริหารรวม 34 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนรวม (Mutual Fund) 31 กอง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 3 กอง โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 1.30 สำหรับไตรมาส 2/2562 บลจ.ภัทร มีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนรวมจำนวน 135 ล้านบาท
สำหรับกองทุนส่วนบุคคล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 28,359 ล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.ภัทร มีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลจำนวน 67 ล้านบาท
ภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ชะลอลงจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมหดตัวตามการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวตามยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วที่มีการเร่งเบิกจ่าย อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในทุกหมวดการใช้จ่าย ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นจากทั้งผลผลิตและราคาเป็นสำคัญ ด้านการส่งออก การส่งออกสินค้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับผลของมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลงต่อเนื่อง ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 29 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.3 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีทิศทางชะลอลงจากปัจจัยฉุดรั้งสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่อาจตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน กระทบต่อภาคส่งออกของไทยทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ สอง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการบริโภคในประเทศในระยะต่อไป สาม ความเสี่ยงด้านภัยแล้งที่อาจกระทบต่อรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรกรรม และสี่ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มสูงขึ้นที่จะกดดันการบริโภคของครัวเรือน