วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือกับ 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด, บริษัท ไอเอ ซิกเนเจอร์ จำกัด,บริษัท ไอ.เอ.พี. อินเทอร์นอล ออดิท จำกัด,บริษัท การบัญชีไทย จำกัด และ บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด" เพื่อร่วมกันพัฒนานักบัญชีรุ่นใหม่ ให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ รู้จักบูรณาการข้อมูลต่างๆให้สอดคล้องกับธุรกิจ และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในงานตรวจสอบ หรือการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มธบ. กล่าวว่านักบัญชียุคใหม่จะไม่ใช่เป็นเพียงผู้ลงบัญชี แต่ต้องเป็นนักบัญชีมีทักษะความเป็นมนุษย์ มีคุณค่ามากกว่านั้น ทั้งการคิดวิเคราะห์ เป็นคู่คิดเจ้าของธุรกิจ เพราะนักบัญชีรู้ทุกอย่างขององค์กร ต้องสามารถบูรณาการ จัดการข้อมูล กลั่นกรองข้อมูล เพื่อประโยชน์ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ และมีทักษะในการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้งานบัญชีมีประสิทธิภาพมากที่สุดต่อองค์กรธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมานักบัญชีอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเขาได้เรียนรู้ทุกเรื่อง แต่บางวิชาก็ไม่ได้ใช้ อีกทั้งไม่รู้จักการบูรณาการ หรือนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่าง CIBA กับทั้ง 5 บริษัท จะเป็นการสร้างนักบัญชียุคใหม่ ที่มีมุมองใหม่ ใช้เทคโนโลยีทำให้งานบัญชีง่ายขึ้น ลดกระบวนการที่ซับซ้อน รู้จักกลั่นกรอง วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อช่วยผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจในการพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้า
"ความร่วมมือครั้งนี้ จะนำสู่การพัฒนารายวิชาต่างๆ วิชาอะไรที่นักบัญชีควรเรียนรู้ จัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของนักบัญชีรุ่นใหม่ รู้จักการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือใหม่ๆ เพราะบริษัทที่เข้ามาร่วมมือ เป็นบริษัทที่มีการใช้ซอฟต์แวร์ มี AI มีบล็อกเชนในกระบวนการพัฒนาบัญชี มีบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง ตรวจสอบภายใน และทำบัญชี ซึ่งแต่ละบริษัทมีแก่นต่างกัน ซึ่งเราจะนำจุดเด่นแต่ละบริษัทร่วมกับ CIBA ในการสร้างกระบวนการเรียนการสอน ระบบการพัฒนานักศึกษาบัญชี ให้มีทักษะที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต"ดร.พัทธนันท์ กล่าว
ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดี CIBA มธบ. กล่าวว่าการพัฒนานักบัญชี มีความจำเป็นต้องมีภาคีร่วม เพราะนักศึกษาบัญชีไม่ได้เป็นผู้บันทึกบัญชีเหมือนในอดีต ดังนั้น นักศึกษาต้องรู้จักการใช้เทคโนโลยี และภาคีในครั้งนี้ ทุกบริษัทล้วนมีเครื่องมือเทคโนโลยี ให้นักศึกษาได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะ AI ให้นักศึกษาได้เข้าใจว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนคน แต่เข้ามาช่วยคนได้ หากคนรู้จักปรับปรุงและเข้าใจ อีกทั้งยังสร้างความมั่นใจให้แก่นักศึกษาด้วยว่า อาชีพนักบัญชีไม่ได้หายไปจากโลกนี้ อย่างที่ถูกกล่าวว่าจะเป็นอาชีพแรก ๆ ที่หายไป นักบัญชีไม่หายไปแต่นักบัญชีต้องใช้ความคิดมากขึ้น วิเคราะห์มากขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องใช้ข้อมูลจากนักบัญชี ดังนั้น การนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจ เรื่องนี้ AI ทำไม่ได้ แต่คนทำได้
"นักศึกษาบัญชีจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ได้เข้าใจวิชาชีพตนเองมากขึ้น และรู้ว่าเรียนบัญชี ไม่ได้มีวิชาชีพเดียว แต่ยังสามารถไปทำงานเป็นผู้ตรวจภายใน ผู้บริหารความเสี่ยง อีกทั้งนักศึกษาจะได้ไปฝึกปฎิบัติงานใน 5 บริษัทที่มีความแตกต่างตั้งแต่ตอนเรียน และไปฝึกงานอีก 1 ปี รวมถึงมีรายได้ ค่าตอบแทนจากบริษัทต่างๆ หากนักศึกษาได้ไปทำบัญชีให้แก่บริษัทนั้นๆ เรียกได้ว่า ได้ทั้งทักษะความรู้ ประสบการณ์ การใช้เทคโนโลยี เครื่องมือใหม่ๆ มีรายได้ พัฒนาตนเองให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจอย่างแท้จริง" ดร.ศิริเดช กล่าว
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด เล่าว่า ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยกับทางมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักศึกษาบัญชีที่จบไปในขณะนี้ จะไม่มีความพร้อม และไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ภาคธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามว่า แล้วนักบัญชี แบบไหนที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมหรือตลาดต้องการ ความร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัท จะร่วมพัฒนาปรับปรุงรายวิชา โดยปีแรกจะเริ่มใน 1 รายวิชา เพื่อสร้างรายวิชาที่เหมาะสมในการสร้างนักบัญชียุคใหม่ ที่มีทักษะคิด วิเคราะห์ รู้จักใช้เครื่องมือในการทำงาน และได้ทำงานจริงจากบริษัทจริง
"ภาพของนักบัญชีไทยจะเป็นการทำงานโดยกรอกข้อมูล ซึ่งทำให้นักบัญชีรุ่นใหม่ที่จบไป เขาไม่อยากทำงานตรงนี้ และการกรอกข้อมูลที่ต้องการความแม่นยำ ใช้แรงงานสูง แต่ไม่ใช้สมองมาก เรื่องเหล่านี้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานแทนได้ ส่งผลให้นักบัญชีรุ่นใหม่เมื่อจบออกมาก็ไม่ทำงานบัญชี ทั้งที่ความต้องการของนักบัญชีรุ่นใหม่ คือนักคิด เข้าใจธุรกิจ ภาษี บริหารความเสี่ยง และจากผู้เป็นแรงงานบันทึกข้อมูล ต้องเป็นแรงงานที่ฉลาดและใช้ข้อมูลเป็น ซึ่งถ้าพูดแบบนั้นเด็กจะไม่เห็นภาพ เพราะรูปแบบการลดงานบันทึกข้อมูลขณะนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือกับ CIBA มธบ. จะเป็นการออกแบบ ปรับปรุงรายวิชาที่ตรงกับความต้องการของเด็ก ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ เนื่องจากขณะนี้ ไทยกำลังขาดนักบัญชีที่มีความรู้ ความคิด รู้จักการใช้ข้อมูล"ดร.พณชิต กล่าว
ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า นักบัญชีมีคุณค่ากับธุรกิจอย่างมาก เพราะบัญชี คือการบันทึกข้อมูลทางด้านการเงินที่วิ่งไปวิ่งมาในบริษัท ซึ่งเงินที่วิ่งไปในแต่ละส่วนของบริษัทเปรียบเสมือนเลือด ที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ นักบัญชีจะเป็นผู้ที่เห็นภาพรวมของการทำงานบริษัทได้ดีที่สุดผ่านการใช้เงิน เนื่องจากเงินคือตัวขับเคลื่อนบริษัท สิ่งที่นักบัญชีเห็นจึงไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลข เงิน แต่สามารถเห็นความเสี่ยง โอกาส กลยุทธ์ในการจัดการการเงิน เห็นรอยรั่ว และรู้ถึงการบริหารจัดการที่จะทำให้ธุรกิจดีขึ้นได้ นักบัญชีควรจะเป็นเหมือนแพทย์ที่เข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย และควบคุมร่างกายให้ดีขึ้นได้ ปัจจุบัน เด็กจบมาเด็กจะรู้ทุกเรื่องของบัญชี แต่เด็กไม่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เข้าด้วยกันได้ มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนต้องร่วมกันสร้างนักบัญชีที่รู้จักการบูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูล และวิเคราะห์ นำข้อมูลเหล่านั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ
นายธีรบูลย์ อริยสุทธิวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัท บิลค์ วัน ฯ ได้มีการพัฒนาจัดทำบล็อกเชน ช่วยคนบัญชีเพื่อให้ทำงานได้เร็วมากขึ้น โดยขณะนี้มีบริษัทใหญ่ของประเทศไทยได้นำบล็อกเชนไปใช้ ทำให้นักบัญชีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องทำงานกลับบ้านประมาณ 5 ทุ่ม ตอนนี้กลับบ้านประมาณ 5 โมงครึ่ง ซึ่งบล็อกเชนที่ใช้ เป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยชีวิตคน ดังนั้น นวัตกรรม เทคโนโลยีไม่สามารถแทนคนได้ หากคนทำตัวเป็นมนุษย์ ใช้ความสามารถในการเป็นมนุษย์ คิด วิเคราะห์ รวบรวม จัดการข้อมูล หรือจัดวางระบบการทำงานของธุรกิจ ทำเรื่องที่มนุษย์ทำได้ดี อย่าไปทำในเรื่องที่เทคโนโลยีทำได้
"ผมไม่เคยเชื่อเวลามีข้อมูลบอกว่า นักบัญชี จะเป็น 10 อาชีพที่ตกงาน เพราะคนเหล่านั้นไม่เข้าใจงานบัญชี จริงอยู่ที่งานบัญชี 70% เป็นเรื่องการบันทึกข้อมูล แต่นักบัญชีทำอะไรได้มากกว่านั้น และบริษัท 5 แสนแห่งในประเทศไทย ยังต้องการนักบัญชีที่มีคุณภาพ นักบัญชีที่เป็นมนุษย์ อยากฝากนักบัญชีรุ่นใหม่ ขอให้เชื่อในวิชาชีพ และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ"นายธีรบูลย์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit