ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 320,000 ตารางกิโลเมตร มีความยาวชายฝั่งทะเลประมาณ 3,150 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก รวมถึงส่วนเหนือของช่องแคบมะละกา พบการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ทางทะเลทั้งในเชิงปริมาณและรูปแบบอย่างไร้ทิศทาง และมีการซ้อนทับกันของกิจกรรมในแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลในภาพรวมทั้งประเทศ
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการผลประโยชน์ทางทะเล ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับประเทศ ถ้าประเทศไทยไม่รีบดำเนินการจะทำให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยิ่งเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถฟื้นตัวกลับคืนได้อีก ซึ่งจะนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่การใช้ประโยชน์และอาจเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติรุนแรงขึ้น"
การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับประเทศไทย เป็น 1 ใน 6 ข้อเสนอแนะเชิงนโนบายจากงานวิจัยภายใต้ "โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2559-2561"ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ได้มาซึ่งการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล จะต้องมีการแสดงกิจกรรมการใช้ประโยชน์และทรัพยากรทางทะเลที่อยู่ในแผนที่แผ่นเดียวกัน( One Marine Map) และมีความเป็นปัจจุบัน ( Existing Map) โดยให้มีการจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการที่จะเป็นเวทีกลางในการประสานงานและเชื่อมโยงแผนที่และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงให้มีการจัดทำและประกาศเป็นแผนที่ขอบเขตทางทะเลของจังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลกับการรักษาฐานทรัพยากรธรราชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชนทางทะเลฯ เนื่องจากความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้กิจกรรมการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล ที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
"ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมจังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด รวมถึงเกาะบางแห่ง โดยแต่ละจังหวัดสามารถมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลได้หลายประเภท เช่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ และตรัง เป็นต้น ซึ่งจังหวัดดังกล่าวมีประเภทพื้นที่คุ้มครองที่อยู่ชายฝั่งทะเลมากถึง 6 ประเภท ในขณะที่ประเภทพื้นที่คุ้มครองที่พบในทุกจังหวัด คือ พื้นที่รักษาพืชพันธุ์ และพื้นที่กำหนดมาตรการในการทำประมง ถึงแม้ว่าในแต่ละประเภทจะมีจุดประสงค์ในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองที่แตกต่างกัน แต่ความไม่ชัดเจนของข้อมูลและวัตถุประสงค์กลับก่อให้เกิดความทับซ้อนและความสับสนระหว่างกิจกรรมการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากคนในพื้นที่ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความสมบูรณ์มากขึ้น แต่มาตรการดังกล่าวจะต้องมาพร้อมกับการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน" ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการการพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการบริหารจัดการทะเลไทย หลังจากที่ไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 แต่ในทางปฏิบัติซึ่งยังมีกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทับซ้อนอยู่ การพัฒนาแผนที่เขตทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเลจะมีแนวทางในการแบ่งเขตทางทะเลอย่างไร เพื่อให้แผนที่ดังกล่าวมีมาตรฐานและเที่ยงธรรม ซึ่งถือเป็นโจทย์วิจัยหลักของโครงการ
พลเรือเอก จุมพล ลุมพิกานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะนักวิจัย กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ติดกับทะเล 23 จังหวัด แบ่งเป็นทะเลฝั่งตะวันตกได้แก่ทะเลอันดามัน รวมไปถึงช่องแคบมะละกา 6 จังหวัด และทะเลฝั่งตะวันออกได้แก่ทะเลฝั่งอ่าวไทย 17 จังหวัด ที่ผ่านมาเรามีเพียงแผนที่แสดงเขตจังหวัดทางบก แต่เรายังไม่เคยมีแผนที่ที่แสดงเขตจังหวัดทางทะเล แม้จะเคยมีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติแบ่งเขตทังหวัดทางทะเลเมื่อปีพ.ศ.2502 แต่ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในสภาพภูมิศาสตร์ในปัจจุบัน ขณะที่พื้นที่ทางทะเลนั้นมีความแตกต่างกันในหลายมิติ เช่น ทิศทาง การวางตัวของชายฝั่ง ความโค้งเว้าของขอบฝั่ง ลักษณะของหาด ความลาดชันของพื้นที่ท้องทะเล และความลึกของน้ำ เป็นต้น โครงการการพัฒนาแผนที่เขตแดนทางทะเลระหว่างจังหวัดชายทะเล หรือ แผนที่เขตจังหวัดทางทะเล จะช่วยในเรื่องของการจัดการเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของจังหวัดชายฝั่งทะเลได้ โดยใช้หลักการมาตรฐานสากลในการกำหนดการแบ่งเขตจังหวัดภายในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของไทย
"การมีแผนที่เขตจังหวัดทางทะเล จะทำให้รู้ว่าเขตทางทะเล ของแต่ละจังหวัดใน 23 จังหวัดอยู่ตรงไหน เปรียบเสมือนการมีโฉนดบ้านที่จะบอกว่าขอบเขตพื้นที่ของบ้านเราอยู่ตรงไหนบ้าง ทิศไหนติดกับใคร และระยะทางใกล้ไกล คล้ายการทำแผนที่จังหวัดบนบกที่มีการกำหนดขอบเขต อาณาเขต ทิศทาง นอกจากนี้ทะเลยังมีเรื่องของความลึกด้วย การศึกษาวิจัย จึงต้องรวบรวมข้อมูลเขตทางทะเล และลักษณะภูมิประเทศบริเวณชายฝั่งทะเลของไทย ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการชายฝั่งทะเล อาทิ แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-2564 ที่ให้มีการกำหนดเขตปกครองทางทะเล จากนั้นนำมากำหนดแนวทางการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างจังหวัดของไทยทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนที่เขตทางทะเลฯ
ความก้าวหน้าของงานวิจัยล่าสุด จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการสัมมนาระดับกลุ่มจังหวัด หรือ Focus Group ครบทั้ง 23 จังหวัด พบว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางร่างแผนที่การแบ่งเขตทางทะเลรายจังหวัดทั้ง 23 จังหวัด มีพียงบาง จังหวัด เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่เสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพิ่มเติม ซึ่งทางทีมวิจัยจะได้ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาพิจารณาปรับปรุงอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่เวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในภาพรวมที่ส่วนกลางต่อไป ซึ่งเมื่อร่างดังกล่าวแล้วเสร็จตามกระบวนการก็จะนำเสนอให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ศูนย์อำนวยการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
พลเรือเอกจุมพล กล่าวเสริมว่า ประโยชน์ของงานวิจัยแผนที่ทางทะเลนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นสภาพการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ทั้งจากการกัดเซาะ หรือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแล้ว ยังช่วยเรื่องความปลอดภัยในเวลาที่เกิดเหตุการณ์ในทะเลที่ต้องการความช่วยเหลือ จังหวัดสามารถใช้แผนที่เขตทางทะเลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการได้ ทำให้รู้ว่าใครทำงาน ใครต้องรับผิดชอบ อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างหรือปัญหา ตลอดจน การดูแลรักษาและอนุรักษ์ ผลประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรทางทะเลหน้าบ้านของจังหวัดตัวเอง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล
" แผนที่เขตจังหวัดทางทะเล ยังถือเป็นเครื่องมือกลางที่หน่วยงานทุกภาคส่วนจะต้องใช้ร่วมกันในการบริหารจัดการทะเลไทย การกำหนดให้มีการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลสำหรับประเทศไทย และการกำหนดแผนที่ขอบเขตจังหวัดทางทะเล จะต้องทำให้เกิดความสมดุลในทุก ๆ มิติ และจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ทะเลอย่างยั่งยืน"
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผืนแผ่นดินประมาณกว่า 500,000 ตารางกิโลเมตร มีผืนน้ำประมาณกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีสภาพเป็นทั้งน่านน้ำภายใน ทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไทยยังโชคดีที่เป็นเจ้าของทะเลทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทรที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน คือ ทะเลน้ำตื้นในอ่าวไทย และทะเลน้ำลึกในทะเลอันดามัน แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแผนที่การใช้ประโยชน์ทางทะเลของชาติ ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมองเห็นภาพรวมของทะเลไทยไม่ชัดเจน ดังนั้น การจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ทางทะเล และการวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเลของไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนที่ภาพรวมของประเทศและแผนที่เฉพาะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในภารกิจที่รับผิดชอบต่อไป เพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยการสร้างความสมดุลของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ให้เป็นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit