OKMDปิดค่ายวิทยาศาสตร์ตามหลักบีบีแอลในพื้นที่อีอีซีเด็กผู้ปกครองเรียกร้องจัดอีก

17 Jul 2019
OKMD ปิด "ค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามหลักการพัฒนาสมอง" พื้นที่อีอีซี เด็ก ครู ผู้ปกครอง เรียกร้องจัดอีก
OKMDปิดค่ายวิทยาศาสตร์ตามหลักบีบีแอลในพื้นที่อีอีซีเด็กผู้ปกครองเรียกร้องจัดอีก

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือOKMD ได้ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางเพิ่มศักยภาพกำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 หลักสูตรที่สำคัญคือ หุ่นยนต์ และเออาร์ หรือเทคโนโลยีความจริงเสริม โดยใช้แนวทางจัดการเรียนรู้แนวใหม่คือหลักการพัฒนาสมองหรือบีบีแอล เพื่อเตรียมความพร้อมเยาวชนให้มีทักษะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้กำลังคนที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานในเขตพื้นที่ในระยะเร่งด่วนและจำเป็น เป้าหมาย 600 คน จังหวัดละ 200 คน อบรมใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

ดร. อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ OKMD กล่าวว่า การออกแบบค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งนี้ตามหลักบีบีแอลทั้ง 2 หลักสูตรนี้ สอดคล้องกับธรรมชาติและหลักการทำงานของสมอง 6 ประการดังนี้ 1.สมองต้องการทั้งอาหารกายและใจในการเจริญเติบโต การเรียนรู้ การทำงาน และการแก้ปัญหา 2. สมองเรียนรู้จากการสัมผัสตรงทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสและใจ เรียนรู้ด้วยความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ 3. สมองเรียนรู้และจดจำได้ดี เมื่อสมองส่วนอารณ์หรือที่เรียกว่า ส่วนลิมบิก เปิด 4. สมองมีวงจรหลักการเรียนรู้ 2 วงจร คือแบบตั้งใจเมื่อถูกบังคับ และแบบไม่ตั้งใจเมื่อสมองส่วนลิมบิกเปิด 5. สมองเรียนรู้จากของจริงไปหาสัญญลักษณ์ และเรียนรู้จากง่ายไปยาก และ 6. สมองเรียนรู้และจดจำผ่านการลงมือปฏิบัติจริงหรือที่เรียกว่า แอคทีฟเลิร์นนิ่ง ฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญ และค้นพบความถนัด ความสนใจ ความสามารถของตัวเอง จัดบรรยากาศแบบเป็นกันเอง ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์และทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาให้ความรู้ตลอดการอบรม โดยใช้แนวทางจัดการเรียนรู้แบบสเต็ม (STEM Education) คือการบูรณาการศาสตร์ความรู้ 4 วิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการด้านหุ่นยนต์และวิทยาการด้านเออาร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกราฟิกคอมพิวเตอร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) และยังได้เพิ่มศิลปะ (Arts) เป็นศาสตร์บูรณาการเข้ามาเพื่อให้เหมาะสมกับประเภทของการใช้งานให้เกิดมิติที่สวยงามน่าสนใจด้วย เน้นการเพิ่มพูนทักษะในทางปฏิบัติให้เยาวชน สามารถเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ออกมาในอนาคต ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่คือการใช้ฐานความรู้ เป็นหลัก เพื่อให้เยาวชนใช้ศักยภาพสมองอย่างเต็มที่ เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

" เทคนิคของบีบีแอลนั้น นอกจากเด็กๆ จะได้รับการกระตุ้นปลูกฝังให้สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น แล้ว เด็กจะเริ่มรู้จักความถนัดของตัวเอง ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ และสิ่งสำคัญคือได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงานประเภทเทคโนโลยีสูงในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น และเกิดเป็นแรงบันดาลใจอยากเรียนในระดับปริญญาตรี หรือยึดเป็นวิชาชีพตามความถนัด ความชอบของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะได้คนวัยทำงานกลุ่มใหม่ของพื้นที่อีอีซี ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมคือมีความรู้และมีทักษะสูง สอดรับกับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมใหม่ ขณะนี้ OKMD ได้ขยายแนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองในโรงเรียนทั้งภาครัฐสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 943 แห่ง สังกัดเทศบาล 258 แห่ง และสังกัดภาคเอกชน 50 แห่ง " ดร.อภิชาติ กล่าว

สำหรับค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ จ.ฉะเชิงเทรานั้น มีเยาวชนให้ความสนใจจำนวนมากทั้ง 2 หลักสูตร โดยนางสาวปาหนัน ติ้วทอง นักเรียนระดับ ปวส. ปีที่ 1 สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) อ.เมือง เล่าประสบการณ์จากการเข้าค่ายฯ ว่า รู้สึกสนุกมาก เรียนไม่ยาก ได้ความรู้เพิ่มจากที่วิทยาลัยสอนมาซึ่งมีหุ่นยนต์จำลองสอนและให้นักศึกษาลงมือทำ รวมทั้งวิทยาลัยฯ ยังส่งเสริมให้นักเรียนสร้างหุ่นยนต์ไปแข่งขันด้วย ที่ผ่านมามีประสบการณ์ทำสิ่งประดิษฐ์ส่งแข่งขัน โดยออกแบบเป็นเตารีดคล้ายๆหุ่นยนต์ เพื่อเก็บตัวน็อตที่พื้น เคลื่อนที่เองไม่ได้ ต้องใช้แรงลาก ส่งประกวดที่จ.ฉะเชิงเทรา ในปี 2561 ได้รับรางวัลชมเชย หลังจากอบรมแล้ว จะนำความรู้เรื่องหุ่นยนต์ และวงจรไฟฟ้า ไปทำแขนกล เป็นโมเดลใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้รุ่นน้อง โดยทำเป็นวงจรไฟฟ้าสมบูรณ์แบบ ส่วนเป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบแล้ว ตั้งเป้าจะทำงานไฟฟ้าที่จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากเป็นความถนัดและความชอบของตัวเอง

นางสาวอาริสา อาจหาญ นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนดอนฉิมพลีวิทยาคม จาก อ.บางน้ำเปรี้ยว บอกว่า ค่ายหุ่นยนต์นี้ เรียนสนุกมาก หลังจากได้ลงมือทำแขนหุ่นยนต์และการประกอบวงจรไฟฟ้าและโปรแกรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ เกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้น ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด และสอดคล้องกับวิชาที่เรียนในชั้นเรียนด้วย จะนำความรู้นี้ไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เดิม คือทุ่นลอยน้ำให้อาหารปลา อัตโนมัติ ประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการเกษตรร่วมกัน อาหารจะไหลลงน้ำเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากปลาตอดเท่านั้น ซึ่งเป็นผลงานกลุ่มและได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดฉะเชิงเทราในปีที่ผ่านมา และได้นำไปใช้งานจริงที่บ่อเลี้ยงปลานิลปลาทับทิมที่บ้านด้วย พบว่าน้ำไม่เน่าเสีย ขนาดตัวปลาไล่เลี่ยกันตรงกับความต้องการท้องตลาด ในปีนี้จะนำความรู้จากหุ่นยนต์ ไปพัฒนาศักยภาพงานชิ้นนี้ให้สูงขึ้น โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม เคลื่อนที่ได้เอง ไม่ต้องใช้คนลาก ตั้งเป้าจะส่งเข้าประกวดในระดับเขตการศึกษาที่ 6 ช่วงปลายปีนี้

นายธีริทธิ์ ยอดเครือ นักเรียนชั้นม.4 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏ์ เล่าถึงความรู้สึกว่ามาเข้าค่ายครั้งนี้สนุกมาก ที่ผ่านมาเคยเรียนด้านหุ่นยนต์มาบ้างแล้ว มาเข้าค่ายที่นี่ได้เรียนรู้บทบาทความสำคัญของหุ่นยนต์ และลงมือทำด้วย เกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้น และเรียนสนุกกว่าเรียนปกติ ซึ่งจะมีการสอนพื้นฐานและให้ฝึกเป็นวิชาเสริมโดยเฉพาะชั่วโมงการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์จะมีการทดลองด้วย

ส่วนค่ายเออาร์ นั้น นายณัฐพล เดือนเด่น นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียน ดอนฉิมพลีพิทยา บอกว่า สมัครเข้าอบรมเพราะมีความสนใจส่วนตัว เนื่องจากยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ และหลังจากที่อบรมแล้วก็คิดว่าเออาร์ไม่ยากสำหรับคนใหม่ ขอเพียงแค่เปิดใจและฝึกฝน ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถทำได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการเรียนโดยเฉพาะวิชาชีวะ ในมิติที่ละเอียดกว่าเดิม และในชีวิตจริงก็สามารถนำไปใช้ในการวางแผนองค์ประกอบการจัดบ้าน ออกแบบดีไซน์ตกแต่ง โดยไม่ต้องเสียเวลา มันอาจจะยากในช่วงแรก แต่เราทำได้แน่นอน และตัวเองก็จะนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนที่ไม่ได้มาอบรมในครั้งนี้ และร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนที่เข้าอบรม โรโบติกส์

เช่นเดียวกับ นางสาวปพิชญา โอนธรรม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมอบรมเออาร์ เพราะเป็นเรื่องใหม่ โดยตัวเองเรียนดิจิทัล โรบอต อยู่แล้วเลยเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ มาอบรมเออาร์ เพื่อไปถ่ายทอดต่อ แรก ๆ ก็คิดว่ายาก แต่พี่ที่เป็นสตาฟจาก FIBO ก็คอยช่วยให้คำแนะนำ ดูแลเราทำให้เข้าใจมากขึ้น อยากให้โรงเรียนเพิ่มวิชาเออาร์เข้าไปในการเรียนการสอนด้วย เพราะสามารถนำไปปรับใช้กับวิชาคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งนี้ นักเรียนทุกคนก็มีสมาร์ทโฟน แค่โหลดโปรแกรมก็สามารถทำเรื่องยากหลายเรื่องให้เป็นเรื่องง่ายได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้ด้วย

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนในจังหวัดระยอง ก็เข้ารับการอบรมกันเนืองแน่น การอบรมครั้งนี้พิเศษตรงที่มีเด็ก มัธยมต้นเข้าร่วมด้วย เนื่องจากทางผู้ปกครองและครูต้องการเสริมทักษะให้กับเด็ก ม.ต้น ซึ่งจากการอบรมทั้งเออาร์ และโรโบติกส์ ก็พบว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระดับ ม.ต้น หรือ ม.ปลาย ต่างก็สามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน แต่อาจจะแตกต่างกันด้วยประสบการณ์ และความคิดนายธารวิชญ์ กิตติสุทโรภาษ ครูจากโรงเรียน ระยองวิทยา บอกว่า ได้นำเด็ก ม.1 และ ม.4 มาอบรม ทั้ง เออาร์ และหุ่นยนต์ เด็ก ม.ต้น จะตั้งคำถามในช่วงสั้น ๆ จากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ส่วนเด็ก ม.ปลายจะมองไกลกว่า ด้วยประสบการณ์ ทักษะการคิด การตัดสินใจ และการวางแผนเป็นระบบ แต่ในเรื่องของการรับรู้ไม่ค่อยแตกต่าง จากการอบรมในครั้งนี้ ก็สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในเรื่องของ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ จะช่วยในเรื่องของทักษะการคิด คำนวณ โดยส่วนตัวครูอยากให้มีการแข่งขันด้วย เพื่อที่เด็กจะได้คิดและพัฒนาทักษะได้มากยิ่งขึ้น

นายรัฐพล ปิยะสุข นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนระยองวิทยา บอกว่า ตัวเองเคยมาอบรมค่ายโรโบติกส์แล้ว และสามารถผลิตหุ่นยนต์จนเป็นต้นแบบให้น้อง ๆ อยากเดินรอยตาม ดังนั้นจึงอยากให้มีการอบรมลักษณะนี้บ่อย ๆ เพราะเด็กจะได้พัฒนาทักษะเพื่อนำไปต่อยอดกับวิชาที่เรียน ในชีวิตจริง และเพื่อการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

***ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.okmd.or.th***

OKMDปิดค่ายวิทยาศาสตร์ตามหลักบีบีแอลในพื้นที่อีอีซีเด็กผู้ปกครองเรียกร้องจัดอีก OKMDปิดค่ายวิทยาศาสตร์ตามหลักบีบีแอลในพื้นที่อีอีซีเด็กผู้ปกครองเรียกร้องจัดอีก OKMDปิดค่ายวิทยาศาสตร์ตามหลักบีบีแอลในพื้นที่อีอีซีเด็กผู้ปกครองเรียกร้องจัดอีก