ประเมินผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่และโจทย์ใหม่ของภาคส่งออกไทย

17 Jul 2019
ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจได้บ้างแต่มีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างและฐานะทางการคลัง

โจทย์ใหม่ภาคส่งออกไทย ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯยุโรป การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าจีนสหรัฐฯล่าช้า มีความตึงเครียดและตอบโต้ทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระบบการค้าเสรีของโลกกำลังถูกสั่นคลอนด้วยการขยายตัวของลัทธิกีดกันทางการค้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น ทั่วโลกส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ไทยจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น มีข้อจำกัดและปัญหาทางการคลังและความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 อย่างน้อย 3 เดือน

14.00 น. 17 ก.ค. 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฎิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจได้บ้างแต่มีข้อจำกัดจากปัญหาเชิงโครงสร้างและฐานะทางการคลัง รวมทั้งปัจจัยลบจากภายนอกกระทบรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ หากพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สามารถแบ่งออกมาตรการออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก เป็นมาตรการการคลัง (มาตรการภาษี มาตรการใช้จ่ายภาครัฐ) ส่วนที่สอง เป็นมาตรการกึ่งการคลังดำเนินการผ่านธนาคารของรัฐ

มาตรการทางการคลังนั้นมีข้อจำกัดเรื่องฐานะทางการคลัง จะลดภาษีหรือเพิ่มการใช้จ่ายเพิ่มเติมก็จะทำไม่ได้มากนัก เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณแสนล้านจะส่งต่อการเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหนอย่างไรนั้นขึ้นกับตัวทวีคูณ (Multiplier) ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการใช้จ่ายและระดับการรั่วไหล (Leakage) มากน้อยแค่ไหน ขนาดของการใช้จ่ายของภาครัฐเทียบกับจีดีพีถือว่าเล็กมากและส่วนใหญ่เป็นงบประจำ ส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่ง การทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นต้องอาศัยความเชื่อมั่นและการขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน งบประมาณปี 2563 อาจจะล่าช้าอย่างน้อย 3 เดือน แม้นจะสามารถใช้งบประมาณโดยยึดกรอบงบประมาณปี 2562 แต่จะเป็นเฉพาะงบประจำเท่านั้น ส่วนงบลงทุนใหม่ต้องชะลอออกไปก่อน ส่วนมาตรการกึ่งการคลังผ่านธนาคารของรัฐ ต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สาธารณะมากเกินไปในอนาคตหากโครงการปล่อยสินเชื่อกลายเป็นหนี้เสีย

สถานการณ์เรื่องงบประมาณดังกล่าวจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจซึ่งต้องเผชิญกับการหดตัวของการส่งออกและความซบเซาของการท่องเที่ยว ซึ่งกรณีเลวร้ายสุด ส่งออกไทยปีนี้อาจหดตัวถึง 3% เกิดโจทย์ใหม่ของภาคส่งออกไทย ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯยุโรป การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้าจีนสหรัฐฯล่าช้า ล่าสุดประเทศฝรั่งเศสได้ออกมาตรการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ สหรัฐฯประกาศตอบโต้โดยการตั้งกำแพงภาษี ขณะเดียวกัน ล่าสุด มีความตึงเครียดและตอบโต้ทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระบบการค้าเสรีของโลกกำลังถูกสั่นคลอนด้วยการขยายตัวของลัทธิกีดกันทางการค้าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น

ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีอำนาจผูกขาดสูงของไทย พื้นที่ในการทำมาหากินของธุรกิจรายเล็กรายย่อยถูกปิดกั้นจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงเงินทุน พื้นที่และปัจจัยการผลิต ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดผลไม่เต็มประสิทธิภาพและอาจเกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อประเมินปัจจัยต่างๆอย่างรอบด้านแล้ว ประกอบกับธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ไทยมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการเงินเพื่อประคับประคองภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว