"การประชุมวิชาการของกรมวิชาการเกษตรเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้มาพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งปัจจุบันสังคมและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว งานวิจัยจึงต้องปรับตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้นทันกับยุคดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ สิ่งสำคัญจะต้องมีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการทำงานร่วมกันจะทำให้เกิดการพัฒนาทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรซึ่งถือเป็นบุคลากรที่สำคัญที่มีจำนวนจำกัด จึงต้องมีการร่วมมือกับนักวิจัยของภาคเอกชนที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในทุกปีกรมวิชาการเกษตรจะจัดให้มีการประชุมวิชาการเพื่อเปิดเวทีให้นักวิจัยทั้งภายในและภายนอกกรมวิชาการเกษตร เกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานวิจัยในอนาคต ตลอดจนเพิ่มเครือข่ายการบูรณาการงานวิจัยกับเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรด้านพืช รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี ผลงานวิจัยนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่สำเร็จและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดแนวคิดนำไปต่อยอดและใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่นักวิชาการที่ได้ทุ่มเทกำลังกาย และกำลังใจในการค้นคว้าวิจัย สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า กรมวิชาการเกษตรจึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น รวม 15 ผลงาน โดยได้จัดให้มีการมอบรางวัลให้แก่คณะนักวิจัยทั้ง 15 ผลงานในการประชุมวิชาการ พร้อมกับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และเกษตรกรอินทรีย์ดีเด่น รวมทั้งผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดีเด่น สาขาระบบการผลิตตามหลักปฏิบัติที่ดี (GMP) และระบบวิเคราะห์อันตราย และจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) ประจำปี 2562