นายวริทธิ์ นามวงษ์ อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน เผยว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโรงเรียนวัดกรอกยายชา สู่โรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco School) เริ่มมาจากการตอบสนองต่อนโยบายของทางภาครัฐในการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งต้องการให้นักเรียนมีทักษะและความรู้รอบด้าน ไม่ใช่เก่งแต่เพียงทฤษฎีในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังเชี่ยวชาญการปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดทักษะการทำงาน ทักษะอาชีพ ตลอดจนทักษะการดำเนินชีวิตตามหลักแห่งความพอเพียง และด้วยศักยภาพของโรงเรียนวัดกรอกยายชา ซึ่งคณะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเชิงนิเวศ ที่โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น สมาคมเพื่อนชุมชนจึงได้เข้ามาสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน กำลังคน และองค์ความรู้ โดยมีบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หนึ่งในบริษัทสมาชิกสมาคมเพื่อนชุมชน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ดูแลการดำเนินงานภายในโรงเรียน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนและโรงเรียนสามารถเติบโตไปด้วยกันกับภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับพันธกิจของสมาคมเพื่อนชุมชนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
การดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาสู่ต้นแบบโรงเรียนเชิงนิเวศของโรงเรียนวัดกรอกยายชา ประกอบด้วยพันธกิจ 4 ด้าน หนึ่ง คือ การกำหนดนโยบาย สอง การจัดการเรียนรู้ สาม การจัดการทรัพยากร และสี่ การสร้างเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ศึกษาดูงาน และนำเสนอผลงานต่าง ๆ นายวริทธิ์ กล่าว
คุณครูสุดารัตน์ รักษาวงศ์ หัวหน้าวิชาการของโรงเรียนวัดกรอกยายชา กล่าวว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทางโรงเรียนร่วมมือกับทางสมาคมเพื่อนชุมชนจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมทักษะอาชีพ เช่น โครงการธนาคารขยะ เพื่อจัดการปัญหาขยะรอบโรงเรียน โดยนักเรียนจะนำขยะไปรีไซเคิลหรือดัดแปลง เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนหลักจากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งมอบทั้งความรู้ในการจัดการขยะ รวมถึงงบประมาณในการฝึกอบรมคุณครู เพื่อนำมาฝึกสอนนักเรียนต่อไป และโครงการฝึกอาชีพ ที่สอนให้นักเรียนผลิตสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะนำมาจัดจำหน่ายให้กับผู้ที่มาศึกษาดูงานที่โรงเรียน รวมถึงไปออกบูธวางขายเมื่อมีงานนิทรรศการ หรือนำไปฝากขายกับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ซึ่งทางสมาคมเพื่อนชุมชนจะเป็นผู้ประสานงานให้
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะให้กับนักเรียน เช่น กิจกรรมเก็บขยะที่ชายหาด ร่วมกับเทศบาลตำบลเนินพระ และภาคอุตสาหกรรมกิจกรรมปลูกข้าววันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ ร่วมกับชุมชนเกาะกก เทศบาลเมืองมาบตาพุด ซึ่งทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำนา และประเพณีของไทยในเรื่องการลงแขกเกี่ยวข้าว
คุณครูสุดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเชิงนิเวศกับสมาคมเพื่อนชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ที่เด่นชัดที่สุดคือด้านภูมิทัศน์ที่สวยงามขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมโดยรอบก็ดีขึ้นเช่นกัน ในส่วนของนักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เด็ก ๆ มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น มีทักษะความเป็นผู้นำ ทำให้ประสบความสำเร็จในด้านวิชาการและการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีทักษะการทำงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการทำกิจกรรมเพื่อสังคมยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีจิตสาธารณะมากยิ่งขึ้น
สุดท้าย คุณครูสุดารัตน์ได้ขอบคุณทางสมาคมเพื่อนชุมชน โดยกล่าวว่า ทางสมาคมเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดที่ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยแก้ปัญหา ทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานให้โรงเรียนวัดกรอกยายชาได้ทำงานกับทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนใหัดีขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ทุกคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีรายได้เสริม สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเกื้อกูลกันอย่างมีความสุข