เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 (เวลาท้องถิ่น) ที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดคูหาประชาสัมพันธ์ประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) ครั้งที่ 72 โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชน เข้าร่วมนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(กก.) และกระทรวงพาณิชย์(พณ.) ในนามทีมไทยแลนด์ จัดกิจกรรมส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในงานตลาดภาพยนตร์เมืองคานส์ (Marche du Film) และงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Festival de Cannes) ครั้งที่ 72 ระหว่างวันที่ 14-25 พ.ค.2562 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศและสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งในเวทีโลก ซึ่งนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้นำนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลมาดำเนินการโดยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5 เอฟ ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ มวยไทย แฟชั่น เทศกาลและประเพณี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้แก่ชุมชน ท้องถิ่นและประเทศ ซึ่งในส่วนของภาพยนตร์ วธ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน(CONTENT THAILAND) ผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยก้าวสู่เวทีโลกอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560–2564) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของอาเซียน และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่สำคัญในตลาดโลก โดยใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์สังคม ประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ซึ่งปีที่ผ่านมา (2562) มีภาพยนตร์ประเภทต่าง ๆ เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จำนวน 714 เรื่อง สร้างรายได้จำนวน 3,140 ล้านบาท (98 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ)
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวอีกว่า ปีนี้ วธ.ได้นำภาพยนตร์ไทย 3 เรื่อง ที่ชนะการประกวดจากโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน ประจำปี 2562 (Thai Film Pitching Project 2019) ได้แก่ 1. เรื่อง "อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง (Arnold is a model student)" โดย นายสรยศ ประภาพันธ์ และนายดรสะรณ โกวิทวณิชชา 2. เรื่อง "51 แอนผจญภัย" (51 Faces of Anne) โดย นายคงเดช จาตุรันต์รัศมี และนายโสฬส สุขุม และ 3. เรื่อง "ดอยบอย" (Doi boy) โดย นายนนทวัฒน์ นำเบญจพล และนางสาวสุภัชา ทิพเสนา ไปร่วมจัดกิจกรรมการนำเสนอโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อหาผู้ร่วมลงทุน (Thai Pitch 2019) ครั้งที่ 9 ณ คูหาประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ในวันที่ 19–20 พ.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้แสดงผลงานให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก และเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในวงการภาพยนตร์เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า รวมทั้งเปิดเวทีให้ได้แสดงผลงานสู่ระดับสากล ทั้งนี้ ผู้กำกับทั้ง 3 เรื่อง มีผลงานที่โดดเด่น เคยมีผลงานเข้าชิงและได้รับรางวัลในเทศกาลหนังต่างประเทศมาแล้ว อาทิ เรื่อง "ดอยบอย" (Doi boy) โดยนายนนทวัฒน์ นำเบญจพล ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาบทภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2561 นอกจากนี้ที่ผ่านมาภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวยังได้รับรางวัล "ปูริน อวอร์ด" จากโครงการพัฒนาบทภาพยนตร์สำหรับนักทำหนังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFIC)
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา วธ.ได้ดำเนินโครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุนมาแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง และมีโครงการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับโอกาสไปนำเสนอเพื่อหาทุนสร้างในต่างประเทศรวม 27 เรื่อง และภาพยนตร์ที่สร้างเสร็จได้รับเชิญไปจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วโลก อาทิ เรื่อง มะลิลา (Malila) โดย นายอนุชา บุญยวรรธนะ ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คิม จิซก อวอร์ด ในงาน Busan International Film Festival 2017 และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในงานสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 เรื่อง ปาดังเบซาร์ (I Carried You Home) โดย ต้องปอง จันทรางกูร ได้รับทุนพัฒนาบทภาพยนตร์จากงาน Busan International Film Festival เมื่อปี 2008
นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม อาทิ การจัดบูธนิทรรศการประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย การเชิญชวนผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย และการเจรจาธุรกิจด้านภาพยนตร์ในระดับนานาชาติ อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit