ไทยไม่ติดบัญชีประเทศที่ถูกจับตาจากสหรัฐฯ แต่ยังอาจเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันทางด้านการค้า

30 May 2019
- กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ รอบครึ่งปี โดยที่ยังคงไม่มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ประเทศใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาให้มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งทำให้รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) เพิ่มจำนวนขึ้น มาเป็น 9 ประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ไทยไม่ติดอยู่ใน Monitoring List ในรายงานฯ รอบนี้
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์นี้ไม่กระทบต่อการค้าของไทยโดยตรง แต่การที่มีหลายประเทศในอาเซียนติดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตา เป็นสัญญาณว่าไทยก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคตจากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ
  • ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการสหรัฐฯ อาจส่งผ่านแรงกดดันทางการค้าผ่านการพิจารณาสิทธิ GSP เท่านั้น แต่จะไม่ยกระดับไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบอื่น เพราะการผลิตและส่งออกของไทยไม่น่าจะขัดกับหลักเกณฑ์ใดๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งทางการไทยสามารถชี้แจงได้ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าบางรายการของไทยไปสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น ก็เป็นผลจากการปรับห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนในระดับโลกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ทางการไทยจำเป็นต้องเตรียมแผนหาตลาดใหม่ รวมทั้งผลักดัน FTA ฉบับต่างๆ ที่อยู่ในแผนให้เปิดเสรีได้สำเร็จ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกและการลงทุนไทยในระยะยาว

ในที่สุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 1 เดือน โดยรายงานทบทวนนโยบายฯ ของประเทศคู่ค้ารอบนี้ ยังคงไม่มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ประเทศใดมีพฤติกรรมเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์/เงื่อนไขในรายงานทบทวนนโยบายฯ ฉบับนี้ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 2 เรื่อง สำคัญคือ (1) มีประเทศคู่ค้าที่ติดเข้ามาอยู่ในการประเมินรอบนี้เพิ่มมากขึ้นมาเป็น 21 ประเทศ จากเดิม 12 ประเทศ และ (2) มีการปรับเกณฑ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้เข้มงวดขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้น นับเป็นข่าวดีที่ไทยไม่ติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ตามที่มีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จะยังไม่พบสัญญาณความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังการเปิดเผยรายงานทบทวนนโยบายฯ ของสหรัฐฯ ฉบับนี้ แต่คงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนที่อาจมีผลต่อทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วงหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เพราะแม้สหรัฐฯ ยังคงไม่เลือกที่จะกดดันจีนด้วยประเด็นด้าน Currency Manipulator ในขณะนี้ (ซึ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนักในช่วงรอการเจรจารอบใหม่) แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของสหรัฐฯ ในรายงานทบทวนนโยบายฯ รอบครึ่งปีครั้งนี้ สะท้อนแรงกดดันต่อจีนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความไม่โปร่งใสในการเข้าแทรกแซงค่าเงินหยวน และการเกินดุลการค้าในระดับที่สูงเกินไปกับสหรัฐฯ

รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) เพิ่มจำนวนขึ้น มาเป็น 9 ประเทศ (จาก 6 ประเทศในรายงานทบทวนนโยบายฯ เดือนต.ค. 2561) อย่างไรก็ดี ประเทศไทยผ่าน 2 ใน 3 เกณฑ์ที่สหรัฐฯ ใช้พิจารณา ดังนั้น ไทยจึงไม่อยู่ใน Monitoring List รอบนี้

รายละเอียดเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ใช้ในการจัดทำรายงานรอบนี้

1. ขยายความครอบคลุมมากขึ้น สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดเลือกประเทศ โดยพิจารณาจากประเทศที่มีมูลค่าการค้า (ส่งออก+นำเข้า) กับสหรัฐฯ มากกว่า 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อปี ซึ่งทำให้การพิจารณารอบนี้ ครอบคลุมประเทศคู่ค้าถึง 21 ประเทศ คิดเป็น 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 ประเทศ

2. เกณฑ์การพิจารณา ยังอยู่ที่ 3 เรื่องหลัก แต่บางเกณฑ์ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้น

2.1 ยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ตามเดิม

2.2 ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่เกิน 2% ต่อจีดีพี เข้มงวดขึ้นจากเดิมที่ 3% ต่อจีดีพี

2.3 มียอดซื้อสุทธิ FX เพื่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าเพียงด้านเดียว เกิน 2% ต่อจีดีพี ในช่วง 6 เดือนจาก 12 เดือนล่าสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อาจนับเป็นความโชคดีที่สภาพแวดล้อมของตลาดการเงินโลกในช่วงที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จัดทำรายงานฉบับนี้ เป็นช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สวนทางกับสกุลเงินในเอเชียที่เผชิญแรงกดดันในด้านอ่อนค่า ทั้งจากกระแสเงินทุนไหลออก และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในที่เริ่มอ่อนแอลงท่ามกลางสงครามทางการค้า ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าดูแลเพื่อชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินตัวเองด้วยการขายเงินตราต่างประเทศออกมา (ไม่ใช่เป็นฝั่งซื้อสุทธิตามเกณฑ์/เงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนด) ดังนั้น ไทย และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชีย แม้แต่ฮ่องกงซึ่งใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกกับเงินดอลลาร์ฯ ต่างก็รอดพ้นจากเกณฑ์หรือเงื่อนไขเรื่องการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าเพียงด้านเดียวในรายงานฉบับนี้

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับที่ค่อนข้างสูงระหว่าง 1.90-2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (หมายเหตุ: ข้อมูลจาก Census Bureau ของสหรัฐฯ ไม่เท่ากับยอดดุลการค้าที่มองจากฝั่งไทยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) และไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ทำให้อาจยังมีความเสี่ยงที่ไทยจะไม่ผ่านเกณฑ์ในด้านยอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มเติมจากเกณฑ์ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ไทยต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันในประเด็นทางด้านการค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

จับตาความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะพุ่งเป้ามากดดันไทย แต่คาดว่าทางการไทยจะสามารถชี้แจงทุกข้อสงสัยต่อสหรัฐฯ ได้

สงครามการค้าที่คุกรุ่นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อสินค้าจากเวียดนามให้มีโอกาสเข้าไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ ได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทำให้เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 ที่ผ่านมา และยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 1/2562 อีก 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (เทียบกับยอดเกินดุลที่ 9.28 พันล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาส 1/2561) และติดเป็นประเทศที่ถูกจับตาอยู่รายงานทบทวนฯ ตามกรอบเงื่อนไขใหม่ที่เข้มขึ้น ซึ่งรายงานนี้เป็นเสมือนเครื่องมือที่สหรัฐฯ นำมาพิจารณาเดินหน้ากดดันทางการค้ากับนานาชาติด้วยมาตรการต่างๆ รวมทั้งกดดันให้เปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการดังเช่นที่เกิดกับหลายประเทศอย่างจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และญี่ปุ่น

การที่เวียดนามติดอยู่ในประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) สะท้อนความเสี่ยงที่ใกล้เข้ามาที่ไทย ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญในประเด็นทางการค้าที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้ คือ การทบทวนสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่ให้กับนานาประเทศ ซึ่ง GSP ของไทยก็อาจถูกทบทวนในรอบนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากไทยใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ GSP ของสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 (ฐานข้อมูลสหรัฐฯ) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 โดยในกรณีที่ GSP ของไทยถูกทบทวนและมีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ หลายรายการ ก็อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ไทยต้องเตรียมรับมือกับแรงกดดันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ดังเช่น กรณีของอินเดียที่มีมูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง มีรายชื่อติดใน Monitoring List ในรายงานทบทวนฯ เดือนเมษายน 2561 และอินเดียเป็นผู้ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 องค์ประกอบเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ หยิบยกมาเป็นประเด็นเพื่อพิจารณาตัดสิทธิ GSP ที่ให้แก่อินเดีย แม้สถานการณ์ล่าสุดสหรัฐฯ จะเลื่อนการพิจารณาการตัดสิทธิ GSP ออกไป เพื่อรออินเดียจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประกอบกับอินเดียก็หลุดออกจากรายงานทบทวนนโยบายฯ แล้วในรอบนี้

นอกจาก ประเด็นทางด้านสิทธิ GSP แล้ว สหรัฐฯ ยังมีอีกหลายเครื่องมือที่สามารถนำออกมาใช้ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ AD/CVD มาตรการ Safeguard มาตรการ National Security แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไม่น่าจะประเด็นที่ไทยต้องกังวลเพราะการผลิตและการส่งออกของไทยสามารถตรวจสอบได้และไม่ขัดกับเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ ทั้งนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีสินค้าไทยหลายรายการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามาบ้าง แต่ก็เป็นหลักเกณฑ์ภายใต้กรอบ WTO ที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกับไทย อาทิ Safeguard (มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น) ที่สหรัฐฯ ต้องการลดทอนผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศโดยมีเป้าหมายสกัดสินค้าจีนและเกาหลีใต้ที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆ มาตรการทางการค้าด้านอื่นที่ใช้เป็นการทั่วไปอย่าง AD/CVD (มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน) รวมทั้งมาตรการที่มีมูลเหตุมาจากสงครามการค้า แต่สหรัฐฯ ก็ใช้กับหลายประเทศเพื่อปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐฯ อย่าง National Security (มาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ) ซึ่งมาตรการนี้สินค้าไทยก็สามารถชี้แจงขอผ่อนผันได้มาแล้ว

อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ มีการตรวจสอบการส่งออกสินค้าจากไทยว่าอาจมีพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ไทยน่าจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาดังกล่าวและไม่น่าจะถูกดึงเข้าสู่เกมสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีน เนื่องจากมองว่า ทางการไทยน่าที่จะสามารถชี้แจงต่อสหรัฐฯ ได้ในทุกประเด็น ทั้งประเด็นด้านการลงทุนในไทยที่ทางการไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนกับทุกประเทศโดยไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนชาติใดชาติหนึ่งเป็นการเฉพาะ และการลงทุนที่มายังไทยก็มุ่งเน้นที่การผลิตที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมทั้งประเด็นการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสหรัฐฯ ที่ต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นมาชดเชยสินค้าจากจีน โดยเมื่อพิจารณาตัวเลขการนำเข้าของสหรัฐฯ ในรายการเดียวกับที่จีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินค้า HDDs ขนาดเล็กกว่า 20 เซนติเมตร และ ICs มีการเติบโตค่อนข้างสูง (เติบโต 11.4% และ 13.9% ในปี 2561 ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับสินค้าจีนที่สหรัฐฯ ชะลอการนำเข้า สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ไทยมีความแข็งแกร่งทางการผลิตอยู่แล้ว และการเติบโตดังกล่าวก็มาจากการขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนในระดับโลกที่อยู่ในไทยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างเร่งด่วนของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา อนึ่ง ปริมาณการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ที่น่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบว่ามีสินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออกไป จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเรื่อง GSP ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาต่อไปเพราะอยู่ในวิสัยที่สหรัฐฯ สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายยอมรับ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามาไทยในอนาคตที่เป็นผลพวงจากสงครามการค้า สหรัฐฯ คงไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลเพื่อยกระดับมาตรการกดดันการค้ากับไทยได้ เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบคู่แข่ง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนและความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีอยู่ ทางการไทยจำเป็นต้องเร่งหาหาตลาดใหม่ หรือเร่งเจรจากรอบการค้าเสรีอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงานให้สามารถเปิดเสรีได้ อาทิ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้เพื่อบรรเทาแรงกดดันทางการค้าจากมาตรการไม่คาดฝันของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า