ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ทั้งในพื้นที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งในหลายครั้ง ผู้ที่พบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก อาจจะรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเนื่องจากกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะตามมา รวมทั้งอาจจะไม่แน่ใจว่าควรจะช่วยเด็กออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นอย่างไร หรือหากจะโทรศัพท์แจ้งเหตุก็ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานใดที่จะรับผิดชอบได้ตรงจุดที่สุด อีกทั้งบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องของครอบครัวคนอื่น เราไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่ความจริงแล้ว การเข้าไปช่วยเด็กออกมาสถานการณ์การใช้ความรุนแรงนั้น สามารถเปลี่ยนชีวิตพวกของเด็กได้ ลดโอกาสที่จะทำให้พวกเขาต้องเผชิญความทุกข์ไปตลอดชีวิต อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรง เช่น ผู้ปกครอง ได้หันกลับมามองการกระทำว่าการใช้ความรุนแรง เช่น การลงโทษนั้น ไม่ใช่เครื่องมืออบรมสั่งสอนลูกที่ถูกต้อง ซึ่งหากผู้คนในสังคมตระหนักถึงความปลอดภัยและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลักแล้ว การตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเด็กตามขอบเขตที่ทำได้จึงสามารถเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเด็กคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
"ความรุนแรงต่อเด็กในทุกระดับและทุกรูปแบบ ล้วนแต่สร้างบาดแผลทางร่างกาย และบาดแผลทางจิตใจ อีกทั้งยังสร้างพฤติกรรมเลียนแบบที่เด็กจะผลิตซ้ำรูปแบบความรุนแรงที่เคยได้รับเป็นวงจรอีกในอนาคต ดังนั้น การดึงเด็กออกมาจากสถานการณ์ฝันร้ายจึงถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน" นายแกรี่ ริสเซอร์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
ผู้พบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงควรสังเกตและประเมินสถานการณ์นั้น ๆ หากเห็นว่าอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ หรือผู้ก่อเหตุไม่ได้มีอารมณ์ที่รุนแรงจนเกินไป ก็อาจจะช่วยบรรเทาเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วยการพูดคุยและถามไถ่เพื่อลดสภาวะทางอารมณ์ ด้วยการใช้คำพูดดี ๆ แสดงความเป็นมิตรและเห็นอกเห็นใจ เพื่อเบี่ยงพฤติกรรมออกจากการทำร้ายเด็กจนอารมณ์เย็นลง และอาจเล่าถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดกับร่างกายและจิตใจเด็กในระยะยาว แต่หากเห็นว่าสถานการณ์นั้นมีความรุนแรงมาก และอาจมีอันตราย ก็ไม่ควรบุกเข้าไปในบ้านหรือพื้นที่ของผู้ก่อเหตุโดยพลการ และควร โทรแจ้ง 1300 เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
"การทำงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 นั้น จะมุ่งช่วยเหลือเด็กที่เปราะบางด้วยการให้การปกป้องและคุ้มครองเด็กอย่างเหมาะสมตามแต่ละกรณี ตั้งแต่การช่วยเหลือฉุกเฉิน การส่งต่อเพื่อให้เด็กได้รับบริการทางการแพทย์และบริการทางสังคม การให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ การสนับสนุนในเชิงจิตสังคม ตลอดจนการให้ความรู้ในแง่ของทักษะและการดูแลเด็กแก่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก" ดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม เสริมความมั่นใจต่อการโทรแจ้ง 1300 "เราเป็นองค์กรที่ยึดตามหลักวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ มีการปกปิดข้อมูลที่เป็นความลับไม่ให้คนที่โทรมาแจ้งเหตุกับเราได้รับผลกระทบ หากผู้หวังดีไม่สะดวกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวก็สามารถใช้นามแฝงได้ แต่ต้องให้รายละเอียดเรื่องพิกัดสถานที่เกิดเหตุ และสถานที่ใกล้เคียง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกลับไปได้ เพื่อหน่วยงานจะสามารถลงพื้นที่ หรือส่งต่อให้หน่วยงานอื่นลงพื้นที่ในการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว"
ความปลอดภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง คือหัวใจสำคัญที่สุดของผู้ปฏิบัติงานทุกคน ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคมอธิบายว่า "เจ้าหน้าที่ของศูนย์จะต้องผ่านการอบรมด้วยหลักสูตรที่เข้มข้นก่อนที่จะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งตำรวจ แพทย์ และนักสังคมสงเคราะห์ โดยยึดความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กเป็นหลัก หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว จะมีการประเมินตัวเด็กและครอบครัว หรือผู้ที่ใช้ความรุนแรง" โดยข้อมูลจากการลงพื้นที่ของนักสังคมสงเคราะห์เมื่อไม่นานมานี้ได้เผยให้เห็นว่า มีถึงร้อยละ 70 ของเด็กที่ประสบปัญหาทางสังคมและได้รับการประเมินว่าสามารถทำงานกับครอบครัวให้เข้าใจสภาพปัญหา ปรับตัว และสมาชิกในครอบครัวสามารถให้การดูแลเอาใจใส่ต่อเด็ก จะสามารถอาศัยอยู่ในครอบครัวหลังจากเกิดเหตุได้ ซึ่งเด็กและครอบครัวจะสามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐ ขณะที่เด็กที่ประสบปัญหาอีกร้อยละ 30 จำเป็นต้องเข้ารับการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพในหน่วยงานของกระทรวง พม. อาทิ บ้านพักเด็กฯ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ เด็กถูกทำร้ายร่างกายจากบุคคลในครอบครัว เด็กได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม หรือเด็กไม่มีคนเลี้ยงดูหรือไม่พร้อมเลี้ยงดูเด็ก"
นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสสื่อโซเชียลที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในปัจจุบันไปแล้ว ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์บางคนเลือกที่จะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาบันทึกวิดีโอหรือรูปภาพแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคมได้ฝากไว้ว่า "การแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์อาจจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่ในบางกรณีที่เรื่องจบไปแล้ว รูปภาพหรือคลิปของเด็กและครอบครัวที่ยังอยู่ อาจทำให้เด็กและครอบครัวที่ถูกกระทำต้องรู้สึกอับอายและอยู่ในสังคมได้ยาก ทั้งยังอาจเป็นการละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้ ฉะนั้น หากต้องการช่วยด้วยการถ่ายคลิปเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการแจ้งจริง ๆ ก็แนะนำให้ส่งคลิปผ่านช่องทางเฉพาะของศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 จะดีที่สุดค่ะ"
ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 พร้อมเปิดรับแจ้งปัญหาสังคมต่าง ๆ อาทิ การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รวมถึงการละทิ้งและการแสวงประโยชน์จากเด็ก ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทั้งช่องทางโทรศัพท์และช่องทางออนไลน์ ผู้แจ้งเหตุสามารถส่งข้อมูล รูปภาพ และคลิปวิดีโอได้ผ่านทั้งทางบัญชี LINE (ไอดี sac1300news), เฟซบุ๊ก "สายด่วน 1300 พม.", อีเมล์ [email protected] และเว็บไซต์ www.1300thailand.m-society.go.th
อย่าลืมว่าเราทุกคนมีส่วนสำคัญในการหยุดยั้งความรุนแรงต่อเด็ก อย่าลังเลที่จะโทรแจ้งสายด่วน 1300 เมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่ามีเด็กถูกกระทำรุนแรง เพราะ หนึ่งพันฝันร้าย หยุดได้ด้วยหนึ่งเสียงของพวกเราทุกคน #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต www.unicef.or.th/endviolence