ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กับโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สดขนาดเล็ก จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดราชบุรี และขอนแก่น เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน และสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมทั้งขอการรับรองมาตรฐาน GMP จากหน่วยรับรอง
โดยโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นโมเดลในด้านการตลาดนำการผลิตและระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการเชื่อมโยงกับห้างโมเดิร์นเทรดอย่างเทสโก้ โลตัส ในการรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และมีการขยายผล "โนนเขวาโมเดล" ไปในพื้นที่อื่นๆ เช่น โรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาคูร่วมใจพัฒนา ตำบลนาคู อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นอกจากนี้ มกอช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตร สังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายผล "โนนเขวาโมเดล" ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพิ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านสว่าง ตำบลหินตั้ง อำเภอบ้านไผ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 35 ราย ส่วนใหญ่ปลูกผักกาดหัว (หัวไชเท้า) ส่งโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดบ้านโนนเขวา เพื่อเข้ากระบวนการก่อนส่งจำหน่ายให้ เทสโก้ โลตัส 5 ตัน/สัปดาห์ และเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีสมาชิกผ่านการรับรองแปลง GAP จากกรมวิชาการเกษตรแล้ว จำนวน 22 ราย
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยทั้งต่อตัวเกษตรกรในฐานะผู้ผลิต และต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค จึงได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "เตรียมความพร้อมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่" ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักบ้านสว่าง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างด้วยชุด Test kit ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพการส่งผักเข้าโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สดบ้านโนนเขวา และนำความรู้ไปใช้ในการกำกับดูแลให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานปลอดจากสิ่งปนเปื้อน โดยการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างด้วยชุด Test kit เป็นหนึ่งในกระบวนการควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมั่นใจได้ว่า สินค้าเกษตรดังกล่าวมีความปลอดภัยจากสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายได้
"ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความปลอดภัยด้านอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้มีมาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ โดยใช้เรื่องคุณภาพมาตรฐานเป็นจุดขาย โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อาหาร หรือจากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table)" เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit