สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 20-24 พ.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 27-31 พ.ค. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

28 May 2019
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
  • การเจรจาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่คืบหน้าและยังไม่มีกำหนดการประชุมรอบใหม่ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ นาย Steven Mnuchin กล่าวว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งเดือน เพื่อขึ้นกำแพงภาษีจีนรอบใหม่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • "สงครามการค้า" ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขยายวงเป็น "สงครามเย็นทางเทคโนโลยี" หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารวันที่ 16 พ.ค. 62 ห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ผลิตโดยองค์กรที่สร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ (แม้ไม่ระบุชื่อแต่ทราบกันดีว่าสหรัฐฯ พุ่งเป้าไปบริษัท Huawei) อย่างไรก็ดี บริษัท Huawei ได้รับการผ่อนผันจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เป็นเวลา 3เดือน
  • 22 พ.ค. 62 บริษัท Panasonic ของญี่ปุ่น และ บริษัท ARM ของสหราชอาณาจักรประกาศเลิกทำธุรกิจกับ Huawei อีกทั้งบริษัท Google ประกาศยุติการทำธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้งานฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการธุรกิจกับ Huawei ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์ Huawei รุ่นที่จะออกมาหลังจากนี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการ Google Play Store, Gmail, YouTube
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 476.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ ก.ค. 60
  • Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3,696 สัญญา มาอยู่ที่ 393,615 สัญญา ลดลงต่อเนื่อง 2สัปดาห์
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12,529 สัญญา มาอยู่ที่ 250,108 สัญญา ลดลงต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
  • สถานการณ์การเมืองโลกตึงเครียดหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ Trump เตือนอิหร่านว่าอาจต้องเผชิญกับกองทัพสหรัฐฯ หลังกองกำลัง Huti ในเยเมนที่อิหร่านหนุน เป็นผู้ต้องสงสัยในการยิงจรวดโจมตี บริเวณสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก แต่พลาดเป้าและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าภัยคุกคามจากอิหร่านต่อภูภาคตะวันออกกลางยังคงอยู่ในระดับสูง
  • มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ในเดือน พ.ค. 62 ต่ำกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน และล่าสุด Kayrrossบริษัทข้อมูลด้านพลังงานประเมินว่าปริมาณน้ำมันดิบในคลังสำรองของอิหร่านเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 46 ล้านบาร์เรล จากความจุทั้งหมด 73 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ Marine Traffic บริษัทข้อมูลด้านการเดินเรือระบุว่าปัจจุบันมีเรือ 16 ลำ บรรทุกน้ำมันดิบของอิหร่าน ถูกใช้เป็นคลังเก็บน้ำมันสำรองกลางทะเล หรือ Floating Storage ปริมาณรวม 20 ล้านบาร์เรล เทียบกับในเดือน มี.ค. 62 ที่อิหร่านใช้เรือเพียง 12 ลำ เก็บน้ำมันปริมาณรวม 13 ล้านบาร์เรล
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่น ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (Rig) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่น มาอยู่ที่ 797 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 61

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนขยายวงเป็นสงครามทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง ประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ ออกมาทวีตข้อความ "ข้อตกลงทางการค้าระหว่าง จีน และสหรัฐฯ กำลังจะเกิดขึ้น" ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) จากปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันโลกชะลอตัว ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มบ่งชี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มลดลง จากการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของธุรกิจชะลอตัว รวมถึงผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์จาก ING Bank ระบุว่าราคาน้ำมันได้แรงสนับสนุนจาก ภาวะอุปทานน้ำมันขาดตลาดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง สหรัฐฯ , อิหร่าน และเวเนซุเอลา และ เห็นว่า OPEC+ ไม่ควรขยายเวลามาตรจำกัดการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 62 นอกจากนี้ ING ยังคาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 อุปทานน้ำมันยังขาดตลาดอยู่จำนวนมาก ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 58-62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศจัดสรรโควตา รอบที่ 2/62 น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 75% จากการจัดสรรครั้งก่อน อยู่ที่ 9.09 เมตริกตัน (หรือ 78 ล้านบาร์เรล) ให้แก่โรงกลั่นของรัฐบาล 5 ราย คือ China National Petroleum Corp(CNPC), China Petroleum and Chemical Corp (Sinopec), China National Offshore Oil Corp (CNOOC), Sinochem Corp และ China National Aviation Fuel ประกอบกับ บริษัท GS Caltex ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูป ในไตรมาส 1/62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% อยู่ที่69.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ Hyundai Oilbank ผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.8% อยู่ที่ 43.2 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 228.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามกรมสิ่งแวดล้อมและพลังงานของออสเตรเลียรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันเบนซิน ในเดือน มี.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 49.3 % อยู่ที่ 4.7 ล้านบาร์เรล และโรงกลั่น Yokkaichi (กำลังการกลั่น 155,000บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Idemitsu Kosan ปิดซ่อมบำรุงวันที่ 21 พ.ค.62 ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 เม.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.87 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.5-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซล จากเอเชียไปยุโรปปิด และคาดโรงกลั่นในตะวันออกกลางอาจส่งน้ำมันดีเซลที่ล้นตลาดมายังสิงคโปร์ และ Euroilstock รายงานโรงกลั่นน้ำมันในยุโรป (15 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และนอร์เวย์) ผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 1.4 % อยู่ที่ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 17 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล อยู่ที่ 126.4 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.46 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.83 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศจัดสรรโควตาส่งออก รอบที่ 2/62 น้ำมันดีเซล ปริมาณ 9.175 ล้านเมตรติกตัน (68 ล้านบาร์เรล) ลดลงจากปีก่อน 610,000 เมตรติกตัน (หรือ 4.5 ล้านบาร์เรล) ด้านปริมาณสำรอง PAJรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 260,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.30 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-83.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล