กระทรวงเกษตรฯ เข้มผู้เกี่ยวข้องการใช้ 3 สารเคมี ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต พร้อมหนุนสินค้า GAP และอินทรีย์ หวังเกษตรกรผลิตอาหารที่ปลอดภัย ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภค

10 Jun 2019
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา สารเคมีเกษตร และการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ว่า จากปัญหาการควบคุมการห้ามใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งในระหว่างที่จะห้ามการใช้พาราควอต คณะกรรมวัตถุอันตรายได้มีแนวทางเสนอแนะให้กรมวิชาการเกษตร มีมาตรการควบคุมกำกับดูแลให้มีการใช้สารอย่างถูกต้องปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งกับเกษตรกร ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้ กระทรวงเกษตร ฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการ ออกกฎหมาย (ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 5 ฉบับ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (หลังวันที่ 20 ตุลาคม 2562) ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ผู้ขาย ผู้นำเข้า หรือผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามมาตรการขึ้นทะเบียน ผ่านการอบรม และขออนุญาตใช้หรือครอบครอง และมีใบอนุญาตให้บริการพ่นสารเคมี รวมทั้งผลักดันการศึกษาวิจัย หาสารหรือวิธีการทดแทนการใช้ 3 สาร จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้นำเข้า ผลิต จำหน่ายและเกษตรกรผู้ใช้ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และฝึกอบรมเกษตรกรผู้ใช้ 3 สาร มีเป้าหมาย 1.563 ล้านคน อบรมผู้รับจ้างพ่น และผู้พ่น ที่เป็นลูกจ้าง 50,000 คน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการผลิตสินค้า GAP และอินทรีย์ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอาหาร ปลอดภัย (Food Safety) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยมีสินค้าพืชผักและผลไม้ที่ผ่าน การรับรอง GAP รวม 154,011 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 754,811 ไร่ ทั้งนี้ มีการส่งออกกว่า 331,656 ตัน มูลค่าการส่งออก 10,474 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์ จำนวน 652,570 ไร่ ซึ่งการบริการตรวจและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรนั้น ได้ปรับระบบการรับรองมาตรฐานฟาร์ม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยการสร้าง Q อาสา ร่วมกับมหาวิทยาลัยด้านการเกษตร 8 แห่ง พัฒนาหลักสูตรเตรียมความพร้อมผู้ตรวจประเมิน ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองและการออกเอกสารต่าง ๆ ด้วย.