สมาคม ESPGHAN เตือน “อาหารขยะ” อาจเป็นสาเหตุทำให้คนแพ้อาหารเพิ่มขึ้น

10 Jun 2019
ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมาคมกุมารเวชศาสตร์ระบบทางเดินอาหาร ตับ และโภชนาการแห่งยุโรป (ESPGHAN) ครั้งที่ 52 ได้นำเสนอผลวิจัยที่บ่งชี้ว่า ระดับของสาร advanced glycation end products (AGEs) ซึ่งพบมากในอาหารขยะ มีความสัมพันธ์กับการแพ้อาหารในเด็ก

คณะนักวิจัยจาก University of Naples Federico II ได้สังเกตเด็กสามกลุ่มที่มีอายุ 6-12 ปี ได้แก่ กลุ่มที่แพ้อาหาร กลุ่มที่แพ้อากาศ และกลุ่มที่มีสุขภาพดี โดยพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับของสาร AGEs ใต้ผิวหนังกับการบริโภคอาหารขยะ และพบว่าเด็กที่แพ้อาหารมีระดับสาร AGEs สูงกว่าเด็กที่แพ้อากาศและเด็กที่มีสุขภาพดี นอกจากนั้นยังพบหลักฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของสาร AGEs ซึ่งส่งผลต่อการแพ้อาหาร

สาร AGEs เกิดจากการที่น้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือไขมัน และพบมากในอาหารขยะ ได้แก่ อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป อาหารไมโครเวฟ รวมถึงเนื้อย่างและบาร์บีคิว ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสาร AGEs มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคทางระบบประสาท แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างสาร AGEs กับการแพ้อาหาร

มีหลักฐานมากขึ้นที่บ่งชี้ว่าจำนวนคนแพ้อาหารกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเด็กๆ และบางประเทศมีอัตราการอุบัติของโรคสูงถึง 10% ขณะเดียวกัน การบริโภคอาหารแปรรูปก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของพลังงานที่ได้รับต่อวันทั้งหมดในกลุ่มประเทศยุโรป

คุณ Roberto Berni Canani หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า "ข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้อาหารเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้อธิบายว่าเพราะเหตุใดการแพ้อาหารจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลัง สาร AGEs อาจเป็นส่วนที่ขาดหายไป เราต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ และผลักดันให้รัฐบาลทำการแทรกแซงด้านสาธารณสุข ด้วยการควบคุมการบริโภคอาหารขยะในเด็ก"

คุณ Isabel Proano จากสมาคมผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจแห่งยุโรป กล่าวเสริมว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงความรู้ทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับโรคที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ขณะที่การติดฉลากอาหารแปรรูปก็ไม่ช่วยอะไร เราขอเรียกร้องให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขใช้มาตรการป้องกันและรับมือกับการแพ้อาหารที่ดีกว่านี้"

หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ หรือขอข้อมูลอ้างอิงและอินโฟกราฟิก กรุณาติดต่อที่อีเมล [email protected] หรือโทร. +44(0)1444-811-099