ดาว บริษัทด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินโครงการ "ห้องเรียนเคมีดาว" ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของครูวิทยาศาสตร์ ผ่านการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาเคมีด้วยการอบรม "เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน (Small Scale Chemistry Laboratory)" ซึ่งเป็นการใช้อุปกรณ์การทดลองแบบย่อส่วนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ประหยัด ใช้ปริมาณสารเคมีน้อย ระยะเวลาในการทดลองสั้นลง และลดภาระการขจัดของเสียที่เกิดจากการทดลอง ที่สำคัญทำให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการทดลองและได้รับประสบการณ์ตรงอย่างทั่วถึง
ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้จัดการฝึกอบรมห้องเรียนเคมีดาว ปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน รุ่นที่ 6 ณ ห้อง 207 อาคารมหามกุฎ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีครูทั่วประเทศจำนวน 200 คน เข้ารับการอบรม
ภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ขยายผลการเผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้แก่ครูและนักเรียนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยถึงปัจจุบัน มีครูเข้าร่วมการอบรมแล้วจำนวน 1,200 คน จากกว่า 700 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้นักเรียนได้ประโยชน์กว่า 65,000 คน และได้สร้าง "ครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบ ห้องเรียนเคมีดาว" จำนวน 76 คน ที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเป็นวิทยากรปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนได้ต่อไป
"การอบรมเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน จะทำให้ครูและนักเรียนก้าวข้ามอุปสรรคด้านความพร้อมของห้องปฏิบัติการและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง เนื่องจากเป็นอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้กันแพร่หลายทางจุลชีววิทยา ชีวโมเลกุล เทคนิคการแพทย์ และนาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีราคาถูกกว่าอุปกรณ์เครื่องแก้วที่ใช้ในการทดลองเคมีทั่วไป และยังสามารถนำวัสดุขนาดเล็กอื่น ๆ ที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันมาดัดแปลงใช้ในการทดลองเคมีแบบย่อส่วนได้อีกด้วย"
สำหรับเทคนิคปฏิบัติการทดลองเคมีแบบย่อส่วนนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นการทดลองที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ได้รับการยอมรับจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ (UNESCO) และเป็นเทคนิคที่ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจทฤษฎีได้ดีและรวดเร็ว ที่สำคัญการทดลองเคมีแบบย่อส่วนยังใช้สารเคมีปริมาณน้อย โอกาสที่ผู้เรียนผู้สอนจะสัมผัสกับสารเคมีระหว่างทำการทดลองจึงต่ำกว่าระดับที่จะเป็นอันตราย สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้เร็วหากเกิดอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหล และใช้เวลาในการทดลองน้อยลง จึงเป็นการทดลองที่มีความปลอดภัยสูงกว่าการทดลองเคมีที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ริเริ่มโครงการนำร่องการอบรมการทดลองเคมีแบบย่อส่วนแก่บุคคลากรครูในพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 และต่อยอดขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออก จนปัจจุบันครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และยังสนับสนุนให้ครูที่ผ่านการอบรมนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนได้เองด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ๆ ใกล้ตัว รวมถึงสนับสนุนให้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ DOW-CST AWARD ซึ่งประยุกต์ใช้เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน โดยสำหรับปีนี้ โครงการฯ เปิดให้ส่งผลงานเข้าประกวดได้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. และจะประกาศผลในวันที่ 18 ธ.ค. 2562
ต่อยอดสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน
สำหรับการอบรมการทดลองเคมีแบบย่อส่วน รุ่นที่ 6 ครั้งนี้ ได้ทำการทดลอง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. การแพร่ของก๊าซ 2. การไทเทรตกรดเบส 3. ฝนกรด และ 4. สมบัติของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ โดยมีครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบเป็นวิทยากรช่วยถ่ายทอดเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนแก่ครูที่เข้าร่วมการอบรมอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ครู ที่เข้ารับการอบรม ยังจะได้รับชุดอุปกรณ์การทดลองเคมีแบบย่อส่วนจำนวน 4 ชุดที่สอดคล้องกับบทเรียนไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนต่อไป
ครูรัตนาพรรณ อุตมีมั่ง โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน ครูวิทยาศาสตร์ต้นแบบ ที่ทำหน้าที่วิทยากรในการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมอบรมการทดลองเคมีแบบย่อส่วน รุ่นที่ 4 เมื่อหลายปีก่อน และได้นำเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ กับการเรียนการสอนภายในห้องเรียน โดยได้นำอุปกรณ์ของโครงการห้องเรียนเคมีดาวไปใช้ในห้องเรียนจริง ซึ่งตอบโจทย์ได้ดีมาก เด็กชอบและตื่นเต้นกับการทดลอง เพราะเห็นผลชัดเจน และไม่จำเป็นต้องอาศัยห้องทดลอง แต่สามารถนำอุปกรณ์แบบย่อส่วนไปทำการทดลองที่ไหนก็ได้ ไม่ยุ่งยากในการใช้ และการจัดเตรียมอุปกรณ์มีความปลอดภัย นอกจากนั้น ยังได้นำทักษะที่ได้รับจากการอบรมไปถ่ายทอดสู่เพื่อนครูในหมวดเคมีของโรงเรียน เพื่อให้เพื่อนครูได้ทดลองใช้อุปกรณ์ รวมทั้งยังนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้สำหรับการจัดค่าย "ดาวรุ่งมุ่งสู่โอลิมปิก" ของโรงเรียน เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าโรงเรียนมีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เคมี ด้วยแนวคิดการทดลองแบบย่อส่วนและมีอุปกรณ์ที่เด็กสามารถลงมือทำได้จริง
คุณครูชญนันท์ รักษาศรี โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย ครูผู้เข้าร่วมอบรมห้องเรียนเคมีดาว รุ่นที่ 6 กล่าวว่า ตัดสินใจเข้าร่วมการอบรมโครงการห้องเรียนเคมีดาว เพราะมีความสนใจด้านเคมีอยู่แล้ว และเชื่อว่าชุดอุปกรณ์ที่ได้ทำการทดลองแบบย่อส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ค่อนข้างหาได้ง่าย และใช้งบประมาณน้อยลง ทำให้นักเรียนจะได้ลงมือทำการทดลองเองจริง ๆ มากกว่าการทดลองที่เป็นสเกลใหญ่ที่โรงเรียนมักมีอุปกรณ์จำกัด ทำให้เด็กบางส่วนจะไม่ได้ลงมือทำและได้เพียงดูเพื่อนทำการทดลองเท่านั้น แต่เมื่อเป็นสเกลเล็กเช่นนี้ ทำให้เด็กได้ทำการทดลองเองมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีประสบการณ์ เพราะได้เห็นภาพที่ติดตา มีมโนภาพหรือจินตนาการ เกิดความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งการเรียนการสอนด้วยวิธีนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับการเรียนวิชาเคมี
"เด็กส่วนใหญ่ชอบที่จะทำการทดลองมากกว่าเรียนทฤษฎีอยู่แล้ว ยิ่งเรานำการทดลองแบบย่อส่วนเข้าไปช่วยให้เด็กได้ทำจริง ได้เห็นผลงาน หรือเป็นชิ้นงานของตัวเองก็ยิ่งชอบ ทำให้รักวิชาเคมีมากขึ้น" ครูชญนันท์กล่าว
ติดอาวุธความรู้การจัดการพลาสติกด้วย Circular Economy
ก่อนเริ่มทำการอบรม "เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วน" ด้วยชุดอุปกรณ์แบบย่อส่วนซึ่งเป็นพลาสติก ประทรรศน์ สูตะบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ได้บรรยายให้ครูผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจเรื่องพลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยนำเสนอข้อมูลภายใต้หัวข้อ Plastics for Sustainability ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกทางทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก จึงได้เกิดความตกลงร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม 15 องค์กร เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ขึ้นโดยตั้งเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2570 จะลดขยะทางทะเลลง 50% จากปัจจุบันที่มีขยะพลาสติกราว 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้ นำมารีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ยังใช้วิธีฝังกลบเสี่ยงต่อการหลุดรอดสู่ทะเล
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 เพื่อจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีเป้าหมายลดและเลิกการใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และภายในปี พ.ศ. 2570 จะนำพลาสติกอื่น ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ซึ่งแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นระบบจากจัดการของเสียจากการผลิตและการบริโภคด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ (re-material) หรือนำมาใช้ซ้ำ (re-use) แต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนประสบผลสำเร็จ จะต้องสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติกอีกด้วย
เกี่ยวกับ 'ดาว'
บริษัท ดาว (NYSE: DOW) ผสานพลังของเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายที่สุดในภาคอุตสาหกรรมเข้ากับการบูรณาการด้านการผลิต นวัตกรรมเฉพาะด้าน และการดำเนินธุรกิจระดับโลก เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจและก้าวสู่การเป็นบริษัทด้านวัสดุศาสตร์ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม การเอาใจใส่ต่อลูกค้า ให้ความสำคัญกับความแตกต่าง และดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน ด้วยพอร์ตโฟลิโอทั้งในด้านวัสดุประสิทธิภาพสูง สารตัวกลางในอุตสาหกรรม และธุรกิจพลาสติกที่ครบวงจรและเน้นการตอบสนองตลาดเป็นหลัก ดาวจึงพร้อมที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่เน้นเทคโนโลยีซึ่งมีให้เลือกหลากหลายสำหรับลูกค้าในตลาดที่มีอัตราเติบโตสูง เช่น บรรจุภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์ดูแลผู้บริโภค ดาว มีฐานการผลิต 113 แห่งใน 31 ประเทศ มีพนักงานประมาณ 37,000 คน และมียอดขายประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2561 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชม www.dow.com หรือติดตาม @DowNewsroom บน Twitter
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit