นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ภาคเกษตรของไทยในปัจจุบันนอกจากประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของ สภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การระบาดของโรค และแมลงศัตรูพืชแล้ว สภาวะการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และเกษตรกรมีอายุที่มากขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรของไทย การจัด "งานรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตข้าวในนาแปลงใหญ่ปี 2562" ณ นาแปลงใหญ่บ้านสวนแตงจ.สุพรรณบุรี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ มีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ทราบถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเข้ามาช่วยทดแทนและใช้พัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรแก่เกษตรกรนาแปลงใหญ่ มุ่งสู่การเป็น "สมาร์ท ฟาร์มเมอร์" เป็นการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามโรดแม็ปของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"การจัดงานในวันนี้ เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาถ่ายทอดให้เกษตรกรได้ทราบถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในรูปแบบต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยงานด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี ไอโอที เซ็นเซอร์ (IoT Sensors) ที่มาพร้อมกับแพลทฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร ของ บมจ.ล็อกซเล่ย์ นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามามีบทบาท ด้านการบริหารจัดการในพื้นที่ของเกษตรกรที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสามารถวิเคราะห์และแจ้งเตือนปัญหาเบื้องต้นที่อาจจะเกิดในนาแปลงใหญ่ให้เกษตรกรทราบและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที"
นายกาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IoT Sensors ซึ่งมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์และแพลทฟอร์มที่ล้ำสมัย เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงเกษตรฯ ให้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรของไทย ให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้นำไปบูรณาการต่อยอดดำเนินการสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่การเป็น "สมาร์ท ฟาร์มเมอร์" ทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย"
สำหรับเทคโนโลยีไอโอที เซ็นเซอร์ ( IoT Sensors ) ของล็อกซเล่ย์ ที่นำมาร่วมโครงการนำร่องเกษตรอัจฉริยะกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรในวันนี้ เป็นชุดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งในนาข้าวแปลงต้นแบบกว่า 20 ไร่ เพื่อใช้สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในอากาศ ตัวอย่างแมลงศัตรูพืช การเจริญเติบโตของพันธุ์พืชนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลแสดงผลผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อประเมินสุขภาพข้าว พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรให้บริหารจัดการแปลงนาข้าวได้อย่างทันท่วงที เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพและมีผลผลิตที่มากขึ้น โดยแพลทฟอร์มดังกล่าวยังสามารถผนวกใช้ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี UAV (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อสำรวจติดตามบันทึกการเจริญเติบโต การเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อประหยัดต้นทุนและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้ดูแลพื้นที่เกษตรได้อย่างยั่งยืน
โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้นำ เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำและไอโอที เซ็นเซอร์ มาใช้บนพื้นที่จริงภายใน เคซี ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่ของ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 25 ไร่ ในการเก็บข้อมูลภาคเกษตรมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่านแดชบอร์ด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้านเกษตรดิจิตอล ภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทซันสวีทฯ โดยผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจและยังใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน.
HTML::image(