"กยท. เองก็จะรับซื้อยางในราคาที่เหมาะสมชี้นำตลาด และพร้อมให้การสนับสนุนเงินแก่สถาบันเกษตรกร สำหรับนำไปปรับปรุงการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพยางให้ดีขึ้น เช่น การขอเงินสนับสนุนเพื่อนำไปซื้อเครื่องจักรแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็นยางเครป ซึ่งสามารถนำมาขายให้โรงงานของ กยท. แปรรูปเป็นยางแท่ง STR20 ต่อไป"
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้ กยท.ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 4 สถาบัน ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางน้ำยืน จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางศรีอุบล จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางแคนดง จำกัด และสหกรณ์บุญทันยางพาราการเกษตร จำกัด เพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายผลผลิตยางของสถาบันเกษตรกรฯ ผ่านตลาดยางพาราและโรงงานรับซื้อยางของ กยท. ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยใช้กลไกตลาด นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการพบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลผลิต ผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานคุณภาพให้ตรงตามความต้องการของตลาด
กยท. ได้วางแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุนการผลิต โดยการปลูกยางในพื้นที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ลดพื้นที่ปลูกยางด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เป้าหมายปีละ 400,000 ไร่ สำรวจพันธุ์ยางดีและนำมาปลูกทดแทนพันธุ์ยางเก่า เพื่อให้ได้น้ำยางที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดการภายในสวนยางที่ถูกต้อง เช่น การใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ลดการใช้สารเคมีและสารกำจัดวัชพืช ตลอดจนดูแลสภาพแวดล้อมในสวนยาง นายเยี่ยมกล่าวทิ้งท้าย
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ กยท. ให้ความรู้แก่สถาบันเกษตรกรในเรื่องการบริหารจัดการสวนยาง การผลิต และการจัดจำหน่ายจนถึงกระบวนการขนส่ง โดยเน้นการผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ตลอดจนสร้างความเข้าใจการดำเนินงานด้านธุรกิจของ กยท. และแผนธุรกิจ Long term contract ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ทำร่วมกับหน่วยธุรกิจ (BU) ซึ่ง กยท. คาดหวังให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรฯ ต่อไป