นายพิศาล กล่าวว่า การประชุม JAWG ฮังการี-ไทย ครั้งที่ 7 ฝ่ายฮังการีได้เห็นชอบที่จะร่วมดำเนินโครงการใหม่กับฝ่ายไทย รวม 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 13 (SDG 13) ในเขตพื้นที่ชลประทานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.โครงการเพิ่มผลิตผลทางปศุสัตว์ โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางระบบสืบพันธุ์ 3.โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ 4.โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสารพิษตกค้างและสารตกค้างในยาสัตว์ ในขณะที่ฝ่ายไทยยินดีดำเนินโครงการใหม่ร่วมกับฝ่ายฮังการี ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และความร่วมมือด้านปศุสัตว์ ในที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการโครงการที่เคยมีมติเห็นชอบ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ รวม 3 โครงการ โดยเป็นโครงการด้านปศุสัตว์ ด้านการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ และด้านการบริหารจัดการดินเค็ม รวมโครงการที่จะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ ทั้งสิ้น 10 โครงการ
ต่อมาคณะผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่สถาบันวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ โภชนาการ และสัตวศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2439 โดยสถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฮังการี มีหน้าที่รับผิดชอบงานวิจัย การนำงานวิจัยมาปรับใช้ รวมทั้งพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ โภชนาการสัตว์ การบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีผลิตอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อ โคนม สุกร แกะ แพะ ม้า และกระบือ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย สถาบันปรับปรุงพันธุ์สัตว์ และภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ฮังการีผลิตสุกรคุณภาพพรีเมียมที่ได้รับการยอมรับจากประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ สุกรพันธุ์มังกาลิซ่า และไม่อนุญาตให้ผลิตสินค้าเกษตร GMO ซึ่งไทยและฮังการีได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร เมื่อปี 2543 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุม JAWG ภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการความร่วมมือที่เห็นชอบร่วมกันกว่า 20 โครงการ