แพทย์หญิงสุคนธมาศ เสรีสิทธิธรรม แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พระรามเก้า กล่าวว่า สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมเกิดจากการนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมนานๆ และไม่มีการยืด ขยับปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป การเพ่งใช้สายตามากๆ บวกกับรังสีจากจอภาพ ทำให้เกิดอาการปวดหัวปวดตาได้ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น นอกจากนี้การทำงานที่หนักเกินไป จนทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน บวกกับสังคมในที่ทำงานเป็นพิษ ทำให้เกิดความเครียดสะสม สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างยิ่ง และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรง ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหด ยึด ตึง เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า อันมาจากความเครียด ความกดดัน และบรรยากาศไม่ดีในที่ทำงาน นอกจากนี้ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการทานอาหารจุบจิบในเวลาทำงาน และไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็ยังส่งเสริมให้อาการของออฟฟิศซินโดรมแย่ลงด้วย
ทั้งนี้การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเอง เช่น หากเริ่มรู้สึกเมื่อยล้า ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง เช่น ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันเอ็นและข้อยึดแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใน
การทำงาน เช่น เปลี่ยนโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ ทำความสะอาดออฟฟิศให้โล่งและอากาศถ่ายเทมากขึ้น ก็สามารถช่วยให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายขึ้น และหากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้วอาการปวดกล้ามเนื้อยังไม่ดีขึ้น ปวดเรื้อรัง ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ มีแขนขาอ่อนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อรับการตรวจประเมินรักษาด้วยยา และการกายภาพบำบัดร่วม 3-7 ครั้ง แล้วแต่สาเหตุและความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญกับอาการออฟฟิศ ซินโดรม หรือเป็นอาการปวดทั่วๆไป เนื่องจากมีการปวดเหมือนกัน แต่สาเหตุต่างกัน และหากดูแลตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินและรักษาป้องกันเพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เพราะจะทำให้สุขภาพทั้งกายและจิตใจแย่ลง และใช้ระยะเวลาในการรักษาที่นานมากขึ้นด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit