สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 27-31 พ.ค. 62 และคาดการณ์วันที่ 3-7 มิ.ย. 62 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

05 Jun 2019
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รมต. ช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน นาย Zhang HanHui ระบุว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ก่อเป็น "Naked Economic Terrorism" ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจทั้งโลกและ ในวันที่ 29 พ.ค. 62 สื่อของรัฐบาลจีน People Daily เตือนสหรัฐฯ ว่าจีนอาจไม่ส่งออกแร่หายาก หรือ Rare Earth (วัตถุดิบสำคัญในการผลิตสมาร์ทโฟน และรถยนต์ไฟฟ้า) ให้สหรัฐฯ อนึ่งคำเตือนโดยสื่อของทางการจีนว่าจีนจะใช้แร่หายากเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่มีน้ำหนัก เพราะทางการจีนเคยใช้ช่องทางการสื่อสารนี้ประกาศท่าทีทางการทูตที่สำคัญในอดีต
  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump มีแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากเม็กซิโก เริ่มต้นจาก 5% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 62 และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือนจนกระทั่งไปถึง 25% ในวันที่ 1 ต.ค. 62 หากรัฐบาลเม็กซิโกยังไม่มีมาตรการป้องกันการลักลอบเข้าประเทศสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย
  • Energy Information administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 476.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ลดลงน้อยกว่านักวิเคราะห์ Reuters คาดลดลง 900,000 บาร์เรล
  • บริษัท Waha Oil ของลิเบียรายงานแหล่งผลิตน้ำมัน Waha (กำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน)

กลับมาดำเนินการการผลิตที่ระดับปกติ หลังผลิตที่ระดับ 124,000 บาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 1-30 พ.ค. 62

เพื่อซ่อมบำรุงระบบท่อขนส่งน้ำมัน

ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • กรมศุลกากรของจีนรายงานจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบีย ในเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% มาอยู่ที่ 1.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • นาย Khaled al-Fadhel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของคูเวตชี้ว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตลาดน้ำมันยังจำเป็นต้องถูกควบคุมให้อยู่ในสมดุล เป็นการส่งสัญญาณว่า OPEC จะขยายกรอบเวลาในการลดการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่อง ขณะที่ รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดิอาระเบียเรียกร้องประเทศผู้ผลิตน้ำมันให้ความร่วมมือควบคุมปริมาณการผลิตอย่างเข้มงวดเพื่อยกระดับราคาน้ำมัน (ระดับความร่วมมือ Compliance Rate ของ OPEC + เดือน ม.ค. - เม.ย. 62 เฉลี่ยอยู่ที่ 120% และในเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 168% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7%)
  • ธนาคารวาณิชย์ธนกิจ Torino Capital ของสหรัฐฯ คาดปริมาณการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลา ปลายปี พ.ศ. 2562 จะลดลงสู่ระดับ 300,000 บาร์เรลต่อวัน (เดือน ธ.ค. 61 ผลิตที่ 832,000 บาร์เรลต่อวัน) การผลิตน้ำมันที่ลดลงทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบลดลงจาก 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2561 มาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ลดลง 37.3 %

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจถดถอย หลังจากสหรัฐฯ เปิดศึกกดดันประเทศคู่ค้าต่อเนื่องในการประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้า นอกจากการเจรจาทางการค้ากับจีนล่าสุดยังไม่มีบทสรุป และจีนเริ่มต้นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯในอัตราที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 62 เม็กซิโกเป็นประเทศล่าสุดที่สหรัฐฯ ขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มโดยพยายามกดดันให้เม็กซิโกเข้มงวดยิ่งขึ้นต่อกรณีผู้อพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย ด้านสถานการณ์ในตะวันออกกลางยัง คุกรุ่นจากการตอบโต้กันด้วยวาจาระหว่างผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ และอิหร่าน ซึ่งหากมีการใช้กำลังทางทหารจริงอิหร่านขู่ว่าอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ นาย Mohammad Javad Zarif รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้ Tweet ข้อความล่าสุดว่าอิหร่านจะไม่เจรจากับสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ไม่ยุติการคว่ำบาตรอิหร่าน อย่างไรก็ดีให้ติดตามปม Brexit ว่าจะคลี่คลายอย่างไร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยรวม หลังแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นาง Theresa May ว่าจะลาออกซึ่งคาดว่าจะมีผลราวกลางเดือนนี้ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 50.0-60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.0-64.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14 % มาอยู่ที่ 8.88 ล้านบาร์เรล และ Bloomberg รายงานสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันเบนซินจากยุโรป สัปดาห์สิ้นสุด 23 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 68,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 656,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 230.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามกรมศุลกากร (General Administration of Customs: GAC) ของจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 3.1% มาอยู่ที่ 9.95 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ PetroChina ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Dushanzi Petroleum (กำลังการกลั่น 202,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ ก.ค.- ส.ค. 62 และโรงกลั่น Daqing Refining and Petrochemical (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ ส.ค.-กลาง ก.ย. 62 และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 พ.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 250,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.25 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนรายงานความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ในเดือน ม.ค.- เม.ย. 62 ลดลงจากปีก่อน 3 % ที่ระดับ 6.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง Bloomberg คาดรัสเซียจะส่งออก Ultra-low Sulphur Diesel (ULSD) จากท่าเรือ Primorsk ในทะเลบอลติก เดือน มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 34,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 247,000 บาร์เรลต่อวัน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 พ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 120,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.95 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 4 % มาอยู่ที่ 19.5 ล้านบาร์เรล ด้านอุปสงค์น้ำมัน Platts ประเมินความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แข็งแกร่งโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลสำหรับการเดินเรือ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับกฎขององค์กรเดินเรือระหว่างประเทศ (IMO) ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล