ปภ. รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง 7 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคทั่วถึงและต่อเนื่อง

18 Jun 2019
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวม 27 อำเภอ 106 ตำบล 881 หมู่บ้าน ซึ่ง ปภ.ได้จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน พร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย ศรีสะเกษ มหาสารคาม ตราด และชลบุรี รวม 27 อำเภอ 106 ตำบล 881 หมู่บ้าน โดยพิษณุโลก ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง)ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอชาติตระการ และอำเภอเมืองพิษณุโลก รวม 11 ตำบล 80 หมู่บ้าน อุตรดิตถ์ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอท่าปลา รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน เชียงราย ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 13 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอป่าแดด อำเภอเชียงแสน อำเภอพญาเม็งราย อำเภอแม่สาย อำเภอพาน อำเภอเทิงอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล และอำเภอดอยหลวง รวม 63 อำเภอ 561 ตำบลศรีสะเกษ ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอไพรบึง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอขุนหาญ และอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ รวม 16 ตำบล 126 หมู่บ้าน มหาสารคาม ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย รวม 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน ตราด ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอเมืองตราด รวม 2 ตำบล 13 หมู่บ้าน ชลบุรี ประกาศเขตฯ (ภัยแล้ง) ในอำเภอเกาะสีชัง รวม 1 ตำบล 7 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสนับสนุนการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้ล่วงหน้าครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการจัดชุดปฏิบัติการสำรวจข้อมูลสถานการณ์น้ำ ข้อมูลแหล่งน้ำและประมาณการใช้น้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ โดยแยกเป็น น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีแหล่งน้ำ ควบคู่กับการปรับปรุงบัญชีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งตรวจสอบภาชนะกักเก็บน้ำให้ใช้การได้เพียงพอพร้อมกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคที่เข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป