ก.แรงงาน ผลิตช่างเชื่อมฝีมือ รับโครงการ Mega Project

19 Jun 2019
ก.แรงงาน พัฒนาช่างเชื่อมฝีมือ หนุน Mega Project และ EEC มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคน
ก.แรงงาน ผลิตช่างเชื่อมฝีมือ รับโครงการ Mega Project

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน ให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) เพื่อมุ่งแก้ปัญหาการขาดแคลนในบางสาขาอาชีพ โดยเฉพาะสาขาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเป็นที่ต้องการตลาดแรงงานอย่างเช่น ช่างเชื่อมโลหะ และความต้องการแรงงานในสาขานี้ที่จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อมีการส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการ Mega Project ของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ก่อให้เกิดสิ่งก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานสาขาช่างเชื่อมและช่างก่อสร้างเป็นจำนวนมาก

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากพร. ได้ดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานเชื่อม 7,000 คนต่อปี ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาช่างเชื่อม 1,200 คนต่อปี สำหรับในปี 2562 มีดำเนินการเปิดฝึกอบรมช่างเชื่อมแล้วจำนวน 5,301 คน และทดสอบฯ อีกจำนวน 1,561 คน ซึ่งฝึกอบรมให้กับแรงงานทั่วไป พนักงานในสถานประกอบกิจการ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสาคร หน่วยงานในสังกัดกพร. ดำเนินการทดสอบฯ สาขาช่างเชื่อมแม็ก (เหล็กหนา) ระดับ 1 ให้กับพนักงานของบริษัทปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำนวน 16 คน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกำแพงเพชร ดำเนินการทดสอบฯ สาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ระดับ 1 ให้กับพนักงานบริษัทเทสโก้ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 23 คน เพื่อวัดทักษะฝีมือ ทัศนคติที่ดีในการทำงาน เพิ่มคุณภาพผลผลิตของสินค้าและบริการ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป ส่วนพนักงานได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรม อาทิ ผู้ที่ผ่านการทดสอบช่างเชื่อมทิก ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 455 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 615 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าวันละ 755 บาท เป็นต้น

"นอกจากสถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาช่างเชื่อมฝีมือป้อนสู่ตลาดแรงงานแล้ว ยังมีศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล (TCIW) ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ เป็นความร่วมมือระหว่างกพร. สถาบันการเชื่อมนานาชาติ และสถาบันการเชื่อมมานไฮมน์ สหพันธรัฐเยอรมนี ก่อตั้งขึ้น เพื่อฝึกอบรมช่างเชื่อม ทดสอบฝีมือตามมาตรฐานของยุโรปและเยอรมนี ซึ่งสามารถผลิตช่างเชื่อมรองรับอุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยี และก่อสร้าง หรือไปทำงานยังต่างประเทศได้เป็นอย่างดี สนใจสอบถามเพิ่มได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดีกพร.กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(