เครือเบทาโกรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือโครงการความร่วมมือด้านการยกระดับความสามารถของเกษตรกร ในการผลิตไก่โคราชในระบบอาหารปลอดภัย และยกระดับตลาดไก่โคราช ด้วยการขับเคลื่อนในรูปแบบ Social Enterprise โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ยกระดับความสามารถของเกษตรกรในการผลิตไก่โคราช สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงให้กับเกษตรกร และยกระดับผลิตภัณฑ์และตลาดไก่โคราชให้มีคุณภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ นายสุเทพ ตีระพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มผลิตปศุสัตว์ เครือเบทาโกร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมด้วย นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร พร้อมด้วยผู้บริหารเครือเบทาโกร และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และแขกผู้มีเกียรติร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุมพจนสาร สำนักงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาคารพญาไท พลาซ่า กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยและบริษัท กำลังร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับประเทศชาติ ด้วยการใช้รูปแบบของ Social Enterprise ร่วมกันสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พร้อม ๆ ไปกับ การยกระดับความสามารถของเกษตรกรไทยในการผลิตอาหารปลอดภัยโดยใช้ไก่โคราชเป็นหลัก และมีความเข้มแข็งของเกษตรกรไทยเป็นเป้าหมาย"
นายสุเทพ ตีระพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มผลิตปศุสัตว์ เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกรในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจอาหารคุณภาพและปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. ที่ได้ทุ่มเทวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไก่พื้นเมือง จนได้สายพันธุ์ไก่โคราช ที่มีลักษณะเด่นในด้านของการเลี้ยงที่ทนโรค ทนแล้ง เลี้ยงง่ายโตเร็ว เนื้อนุ่ม เด้ง อร่อย โปรตีนสูงไขมันต่ำ โดยมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร ชัยภูมิ
บุรีรัมย์ และมหาสารคาม นำไปเลี้ยงเพื่อเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
"เครือเบทาโกรมีความพร้อมทุกด้านที่จะร่วมมือในการดำเนินโครงการกับทาง มทส. โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่รับซื้อลูกไก่ และจัดส่งให้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ โดยสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยพัฒนาเพื่อให้กระบวนการเลี้ยงได้มาตรฐาน และรับซื้อไก่มีชีวิตจากฟาร์มเกษตรกร นำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและผลิตเนื้อไก่สด โดยทีมงานบุคลากรจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ซึ่งเรามุ่งหวังว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ จะยกระดับความสามารถด้านการผลิตไก่โคราชในระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย และช่วยสนับสนุนการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย พร้อมยกระดับตลาดไก่โคราชให้มีคุณภาพและความปลอดภัยที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน" นายสุเทพกล่าวในตอนท้าย
โครงการความร่วมมือด้านการยกระดับความสามารถของเกษตรกร ในการผลิตไก่โคราชในระบบอาหารปลอดภัย และยกระดับตลาดไก่โคราช ด้วยการขับเคลื่อนในรูปแบบ Social Enterprise เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชนอย่างแท้จริง โดยนำความรู้ความชำนาญของภาคเอกชนมาพัฒนามาต่อยอดโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งมอบอาหารคุณภาพสู่วงกว้าง