นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมสัมมนาในพื้นที่เขตภาคใต้ครั้งนี้ เป้าหมายหลักคือการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการดำเนินธุรกิจระหว่าง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อร่วมกันพัฒนาและให้องค์ความรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ ในเบื้องต้น กยท.จังหวัด กยท.สาขา จะทำการสำรวจปริมาณผลผลิตยางในพื้นที่ว่ามียางประเภทใด ปริมาณเท่าไหร่ โกดังที่มีอยู่มีความพร้อมในการจัดเก็บสินค้าหรือไม่ เพื่อเตรียมการหากมีความจำเป็นต้องจัดเก็บยางที่ออกมาในช่วงฤดูฝนเพื่อขายในช่วงฤดูแล้งต่อไป จากนั้นจะนำปริมาณผลผลิตที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาด กยท.ในพื้นที่จะทำหน้าที่ประสานงานกับโรงงานเอกชนเพื่อตกลงราคา และทำสัญญาการซื้อขายยาง สถาบันเกษตรทุกแห่งที่เข้าร่วมจะต้องผลิตยางที่มีคุณภาพดีภายใต้มาตรฐานที่ยอมรับ เช่น GAP GMP มีปริมาณเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงาน และโรงงานที่รับซื้อจะต้องซื้อยางในราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรตามที่ตกลงกันไว้เช่นกัน ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการรักษาเสถียรภาพราคายางภายในประเทศรักษาการฯ ผู้ว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง กยท. และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จับมือกันในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตยาง การตั้งราคาขายจากต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งต้องเป็นที่ยอมรับร่วมกัน การจัดการคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่เหมาะสม การพัฒนาพันธุ์ยางที่ดีเหมาะกับพื้นที่ปลูกเพื่อให้ได้ยางที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดการสวนยางที่ดี หากทำได้เช่นนี้จะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
"ในส่วนของการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง หากมีความจำเป็นเมื่อราคายางตกต่ำหน่วยธุรกิจ กยท. (BU) จะเข้าประมูลยางตลาดกลางยางพาราในราคาชี้นำตลาด เมื่อประมูลแล้วจะนำยางออกขายสู่ตลาดในปริมาณที่ตลาดต้องการ"
"สิ่งสำคัญที่นอกเหนือจากเรื่องการพัฒนาธุรกิจ คือการพัฒนาการศึกษาของลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ กยท. จะผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป เพราะคนที่มีความสามารถจะต้องผ่านการเรียนรู้ พัฒนาทางความคิดในเชิงสร้างสรรค์ การสนับสนุนการศึกษาให้กับลูกหลานเกษตรกรชาวสวนยางเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาวงการยางพาราไทยในอนาคต นอกจากนี้ การค้นคว้าวิจัยเชิงพาณิชย์ในเรื่องนวัตกรรมยางพาราเป็นอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และเอกชนนำไปใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้นำไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่อไป" นายเยี่ยม กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือในการจำหน่ายผลผลิตยางพารา ผ่านตลาดยางพาราของ กยท. หรือจำหน่ายตรงให้กับโรงงานรับซื้อของ กยท. ระหว่าง กยท. และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 7 แห่ง ได้แก่ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสุราษฎร์ธานี จำกัด ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด วิสาหกิจชุมชนยางแผ่นรมควัน/อัดก้อน กยท.จ.สงขลา ชุมนุมสหกรณ์การยางกระบี่ จำกัด ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช จำกัด เพื่อให้ กยท. กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ร่วมมือทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการผลิตยางที่มีคุณภาพต้นทุนต่ำ และการร่วมมือที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจต่อรองด้านราคาต่อไป