ปัญหามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นของไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการตระหนักและรับรู้มากขึ้นถึงอันตรายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศในวงกว้างอันเป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษดังกล่าวคือ ไอเสียที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะต่างๆ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาเร่งผลักดันให้เกิดการปรับปรุงระดับการปล่อยไอเสียของยานพาหนะแต่ละประเภท โดยรถจักรยานยนต์เองก็ได้มีการผลักดันให้ยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานไอเสียยูโร 4 จากเดิมที่อยู่ระดับมาตรฐานไอเสียยูโร 3 รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนวิธีคิดภาษีสรรพสามิตให้ใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนการใช้ขนาดเครื่องยนต์แบบเดิม เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและดำเนินนโยบายไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้หลักเกณฑ์ต่างๆดังกล่าวน่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2563 แต่จะมีผลเกี่ยวพันมาถึงปริมาณยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2563 ไม่มากนัก เนื่องจากมีผลกระทบต่อราคาขายรถจักรยานยนต์เพียงบางรุ่นที่เป็นส่วนน้อยของตลาด ส่วนในปี 2562 ที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆเหล่านี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ แม้จะมีประเด็นเรื่องการเร่งซื้อล่วงหน้าเกิดขึ้นบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการขึ้นราคาขายรถจักรยานยนต์ในปี 2563 ทว่าปัจจัยที่มีผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์ที่สำคัญจริงๆยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
จักรยานยนต์ไม่เกิน 125 ซีซี ลดลงตามภาวะตลาด...ฉุดยอดจักรยานยนต์รวมปี 62 หดตัวกว่าร้อยละ 2
ทั้งนี้ ในปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าตัวเลขยอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งปีน่าจะทำได้ลดลงจากปีก่อนเหลือประมาณ 1,755,000 คัน หรือหดตัวลงประมาณร้อยละ 2 จากที่ทำได้ 1,788,323 คัน ในปี 2561 โดยนอกเหนือจากที่ตลาดรถจักรยานยนต์อยู่ในภาวะอิ่มตัวแล้ว ปัจจัยที่มีผลกระทบหลักในปี 2562 คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงจากประเด็นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และจากสถานการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และอ้อย ในปีนี้ ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปีก่อนอันเนื่องด้วยปัญหาอุปทานล้นตลาดโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรายได้ผู้บริโภคระดับฐานราก ได้แก่ เกษตรกร รวมถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักของตลาดรถจักรยานยนต์ไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องการอนุมัติปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงินจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ทำให้ในปี 2562 นี้ ยอดขายรถจักรยานยนต์มีโอกาสหดตัวดังกล่าว
โดยหากแยกพิจารณาแนวโน้มยอดขายปี 2562 ตามประเภทของรถจักรยานยนต์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองถึงทิศทางตลาดแตกต่างกันไปตามประเภทรถดังต่อไปนี้
มาตรการจัดการมลพิษทางอากาศในปี 63 ส่งผลกระทบต่อราคาเพียงกลุ่มจักรยานยนต์รุ่นเกิน 125 ซีซี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2563 มาตรการเพื่อการจัดการมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น มาตรฐานไอเสียยูโร 4 รวมถึงภาษีสรรพสามิตที่คำนวณจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้นนั้น คาดว่าจะกลายมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคารถจักรยานยนต์ และมีผลต่อตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่ในปี 2563 แตกต่างกันออกไปดังนี้
การปรับมาตรฐานไอเสียขึ้นเป็นระดับยูโร 4 ของรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กนี้แม้ว่าจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตบ้าง ทว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่ายรถมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใหม่ไม่มากนักเพียงประมาณร้อยละ 2 ถึง 3 จากราคาเดิม เนื่องจากผู้บริโภครถจักรยานยนต์ประเภทนี้มีความอ่อนไหวต่อราคาสูง และการมีส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 80 ก็มีผลทำให้การปรับขึ้นราคาของค่ายรถจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน ซึ่งการที่ราคารถจักรยานยนต์รุ่นเล็กมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยดังกล่าว ไม่น่าจะมีผลกระทบยอดขายรถจักรยานยนต์ในภาพรวม
สำหรับรถจักรยานยนต์รุ่นกลางนี้ ผู้บริโภคเป็นกลุ่มที่มีรายได้แน่นอนและเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย ทำให้มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่าผู้บริโภคตลาดรถจักรยานยนต์รุ่นเล็ก ค่ายรถจึงสามารถผลักภาระต้นทุนมายังผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่ายรถมีโอกาสปรับขึ้นราคาขายรถจักรยานยนต์รุ่นกลางนี้ได้ถึงกว่าร้อยละ 10 หลังการปรับไปใช้มาตรฐานยูโร 4 และใช้ระบบคำนวณอัตราภาษีแบบใหม่ที่คิดตามการปล่อยไอเสีย
โดยผลจากการปรับขึ้นราคาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจทำให้เกิดการเร่งซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดกลางล่วงหน้าในช่วงปลายปี 2562 จากผู้บริโภคที่มีความตั้งใจอยากจะซื้อรถจักรยานยนต์รุ่นนี้อยู่แล้ว ซึ่งการเร่งซื้อล่วงหน้าในปี 2562 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อาจจะมีผลต่อความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์รุ่นนี้ในปี 2563 ได้
ตลาด Big Bike เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาน้อย ค่ายรถจึงสามารถผลักต้นทุนการปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 มาที่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถมองผลกระทบที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
Ø Big Bike ขนาดเครื่องยนต์ 251 ถึง 1,000 ซีซี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว Big Bike ในรุ่นนี้ที่ต้องมีการปรับมาตรฐานซึ่งเป็นของสัญชาติญี่ปุ่น อาจจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นไปได้ถึงประมาณร้อยละ 16 เนื่องจากในส่วนของ Big Bike สัญชาติตะวันตกได้มีการปรับมาตรฐานขึ้นเป็นระดับยูโร 4 ไปก่อนหน้านี้แล้วตามมาตรฐานรถจักรยานยนต์ที่จะส่งออกไปตลาดยุโรป ซึ่งผลที่ตามมาทำให้ราคา Big Bike สัญชาติตะวันตกและญี่ปุ่นขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น โดยเฉพาะในรุ่นล่างขนาดเครื่องยนต์ 251 ถึง 500 ซีซี ของค่ายสัญชาติตะวันตกบางยี่ห้อ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการแข่งขันในตลาดมากยิ่งขึ้น เป็นโอกาสให้ Big Bike สัญชาติตะวันตกกินส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ส่งผลให้ Big Bike สัญชาติญี่ปุ่นอาจต้องทำการตลาดที่หนักหน่วงขึ้นในระยะต่อไป
Ø Big Bike ขนาดใหญ่เครื่องยนต์สูงกว่า 1,000 ซีซี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่สำหรับ Big Bike รุ่นนี้โดยวัดจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อต้องเสียภาษีสรรพสามิตลดลงจากอัตราร้อยละ 17 เหลือร้อยละ 9 นั้น น่าจะส่งผลให้ Big Bike ขนาดใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นทุนการปรับใช้มาตรฐานยูโร 4 เพิ่มเข้ามา อาจถูกปรับราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7 อย่างไรก็ดี Big Bike สัญชาติตะวันตกที่ได้มาตรฐานยูโร 4 แล้ว อาจมีโอกาสปรับราคาถูกลงได้จากการเสียภาษีสรรพสามิตที่ลดลงขึ้นอยู่กับนโยบายของค่าย ดังนั้นจากปัจจัยผลกระทบทางด้านราคาที่ไม่สูงมาก ประกอบกับเป็นกลุ่มประเภท Big Bike ที่มีการแบ่งตลาดทั้งประเภทและยี่ห้อค่อนข้างชัดเจนตามรสนิยมของผู้ซื้อ ทำให้การแข่งขันในตลาดจะไม่สูงเท่า Big Bike ในกลุ่มขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,000 ซีซี
ทั้งนี้ ผลจากการปรับขึ้นราคาดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นราคาขายขึ้นค่อนข้างมากในปี 2563 จะทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการเร่งซื้อ Big Bike สัญชาติญี่ปุ่นในรุ่นขนาดเครื่องยนต์ 251 ถึง 1,000 ซีซีล่วงหน้าได้พอสมควรในช่วงปลายปี 2562 ส่วนรุ่นขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 1,000 ซีซี ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กกว่ามาก อาจเกิดการชะลอการซื้อได้บ้างเพื่อดูนโยบายด้านราคาของ Big Bike รุ่นนี้สัญชาติตะวันตก
โดยสรุป จากผลกระทบของมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศของภาครัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นการปรับมาใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 และการปรับใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าอาจจะส่งผลกดดันตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรถจักรยานยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบบ้างนั้นมีเพียงบางส่วนในกลุ่มรถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 125 ซีซี (ส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 20) เท่านั้น ขณะที่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 125 ซีซี ที่ผู้ซื้ออยู่ในกลุ่มฐานรากนั้นไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ทิศทางตลาดรถจักรยานยนต์ในภาพรวมปี 2563 ยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษกิจของประเทศที่ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าอยู่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาพอสมควรนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวทางการจัดไฟแนนซ์ที่เหมาะสมอาจจะช่วยลดผลกระทบของการปรับขึ้นราคา ซึ่งก็น่าจะเป็นแนวทางเลือกหนึ่งที่ค่ายรถจักรยานยนต์ และบริษัทผู้ให้สินเชื่ออาจนำไปใช้ได้ รวมไปถึงการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มผู้ซื้อที่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดแรงกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดลงได้บ้าง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit