นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการให้ความสำคัญกับการรับรองระบบงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ โดยมีสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการเป็นหน่วยรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์บริการได้รับการยอมรับร่วมกับองค์กรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรอง (Asia Pacific Accreditation Cooperation Mutual Recognition Arrangement, APAC MRA) และการยอมรับร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation Mutual Recognition Arrangement, ILAC MRA) ทั้งด้านการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการทดสอบ รวมทั้งได้รับการยอมรับร่วมในขอบข่ายด้านการรับรองความสามารถ ผู้จัดโปรแกรมการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ และการรับรองความสามารถผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง ในอนาคตกรมวิทยาศาสตร์บริการมุ่งปรับปรุงการให้บริการด้านการรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบให้มีความรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า และภายในปี 2570 มีเป้าหมายในการให้การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ห้องปฏิบัติการ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยรับรองระบบงานภายในประเทศ ดำเนินการจัดทำเอกสารวิชาการแนวทางการรับรองระบบงานของประเทศ ให้การรับรองบนพื้นฐานและแนวทาง และเชื่อมโยงข้อมูลบนฐานออนไลน์เดียวกัน ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้ห้องปฎิบัติการในประเทศเข้าสู่ระบบคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและในระดับสากล
ภายในงานกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ร่วมเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในหัวข้อ "สร้างโอกาสการแข่งขันใน Supply Chain ด้วยการรับรองระบบงาน" โดย ดร.พจมาน ท่าจีน ผู้อำนวยการสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ (ISO/IEC 17025:2017)" โดยนางภัทรภร ธนะภาวริศ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ และร่วมออกบูธแสดงผลงาน โดยเน้นถึงบทบาทและความสำคัญของการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานในการช่วยสนับสนุนและยกระดับระบบมาตรฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานของโลก (Global Infrastructure) ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit