เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมาทาง สสปน.และกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรม Fam Trip เชิญภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนลง พื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์ในจังหวัดระยอง 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด และสหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งความโดดเด่นของสหกรณ์นิคมวังไทร จำกัดคือห้องประชุมสัมมนาที่มีบรรยากาศรายล้อมไปด้วยสวนผลไม้นานาชนิดของสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่มากกว่า 20,000 ไร่ ที่ทำให้แขกผู้มาเยือนได้เดินลัดเลาะเที่ยวชมผลไม้ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุดและลองกอง อย่างเพลิดเพลิน ซึ่งทางสหกรณ์ยังได้มีการนำเสนอความรู้นวัตกรรมการเกษตรของทุเรียน เช่น การทำ QR Code เพื่อให้ข้อมูลทุเรียน โครงการจองทุเรียนล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในปีนี้ทางสหกรณ์เน้นให้สมาชิกคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อขายตลาดในประเทศมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้คนไทยได้รับประทานทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งภาคเอกชนที่เดินทางไปดูการดำเนินงานของสหกรณ์ในครั้งนี้ได้มีโอกาสสัมผัสกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจผลไม้ของสหกรณ์ และได้ชิมผลไม้สดจากต้น เยี่ยมชมสวนผลไม้ ชมการสาธิตปลอกทุเรียนแบบถูกวิธี และร่วมประมูลทุเรียนเกรดคุณภาพล๊อตสุดท้าย ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับคณะผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
เมื่อเดินทางมาที่ระยอง นอกจากจะได้สัมผัสกับทรัพยากรทางทะเล รวมถึงผลไม้หลากชนิดที่มีรสชาติ หอมหวานแล้ว ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ ยังมีอ่างเก็บน้ำประแสร์ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และยังเป็น แหล่งเพาะเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง ซึ่งสหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด ได้ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงปลาทับทิมเพื่อสร้างรายได้เสริม นอกเหนือกจากการทำสวนผลไม้เป็นอาชีพหลัก ความพิเศษของปลาที่นี่คือ มีสีสด เนื้อปลาแน่น และมีความนุ่ม ผู้ที่เดินทางมาที่นี่ยังสามารถนั่งเรือไปดูวิธีการเลี้ยง ดูการให้อาหาร และชมธรรมชาติโดยรอบอ่างเก็บน้ำ ประแสร์นี้ได้อีกด้วย
สหกรณ์นิคมชุมแสงจันทร์ จำกัด นอกจากจะมีการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกผลไม้คุณภาพทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง สละ และส่งเสริมการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังแล้ว ยังมีสินค้าของชุมชนที่เป็นผลผลิตของสมาชิก และชาวบ้านในพื้นที่ให้เลือกและสัมผัสอีกหลายอย่าง ทั้งข้าวอินทรีย์ ไข่ไก่ เมล่อนรสชาติหวานฉ่ำ ผักพื้นบ้านสด ๆ ผ้าไหม และผลผลิตสำคัญยังคงอยู่ที่ทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งทุกลูกจะติด QR Code เพื่อบอกแหล่งที่มาและรับประกันคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกซื้อผลไม้จากสหกรณ์
นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมส่งเสริมสหกรณ์และสสปน. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ "ไมซ์เพื่อชุมชน" เป็นปีที่ 2 โดยคัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาดูงานเข้าร่วมโครงการฯ อีก 50 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ตามเมืองหลักและเมืองรอง โดยเชื่อมั่นว่าโครงการไมซ์เพื่อชุมชนจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง การกระจายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ตลอดจนโอกาสในการต่อยอดธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมของชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศ
ด้านคุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้กล่าวเสริมว่า อุตสากรรมไมซ์เป็นรูปแบบของการเดินทางเพื่อจัดประชุมศึกษาดูงานของภาคเอกชน ซึ่งจะมีการใช้จ่ายสูงที่กว่านักท่องเที่ยวทั่วไป และส่วนใหญ่จะเดินทางเป็นหมู่คณะ ทางสสปน.จึงเห็นว่าหากสามารถดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางศึกษาดูงานใหม่ มาเป็นการศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน โดยให้สหกรณ์แต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลางในรวบรวมผลผลิตและสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้นำผลผลิตมาจำหน่ายให้ผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ซึ่งก่อนจะดำเนินโครงการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สำรวจความพร้อมของสหกรณ์ต่างๆ เพื่อจะพัฒนาไปสู่การรองรับธุรกิจการจัดงานไมซ์ เบื้องต้นทางสหกรณ์ต้องปรับปรุงพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน หรือกิจกรรมพิเศษตามวาระต่างๆ ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีเอกภาพและเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ถ้าเข้มแข็งและทำได้จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับสหกรณ์และชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งหากภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจหรือบริษัทใดสนใจจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดสัมมนาศึกษาดูงานหรือจัดกิจกรรม CSR แบบใหม่ในแนวทางของกิจกรรมไมซ์เพื่อชุมชน
ขณะนี้ทางสสปน.ได้จัดทำหนังสือรวบรวมข้อมูลสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ 80 แห่ง รวมถึงสินค้าและของดีประจำท้องถิ่น สถานที่ท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ และกิจกรรมที่ผู้มาศึกษาดูงานร่วมทำกับชาวบ้านได้ แจกให้กับ กลุ่มธุรกิจเอกชน หอการค้าและบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการจัดประชุมและศึกษาดูงาน และกำลังอยู่ระหว่างการกำหนดเส้นทางการเดินทางร่วมกับทางสมาคมอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวในแบบโครงการไมซ์ เพื่อชุมชนที่ลงไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ของสหกรณ์ต่าง ๆ จึงฉีกจากกรอบการสัมมนาแบบเดิม ๆ ที่มักจะอยู่แต่ใน ห้องประชุม เป็นการเสริมสร้างรายได้จากการจัดอบรมสัมมนาในเมืองหลักมาสู่พื้นที่เมืองรอง ซึ่งช่วยกระจายรายได้ให้ถึงชุมชนอย่างแท้จริง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit