โดย "นางอัมพวัน พิชาลัย" ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้เฟ้นบุคคลที่มีองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่ดั้งเดิมมีทักษะฝีมือเชิงช่างในงานศิลปหัตถกรรม จากทั่วประเทศกว่า 300 ราย คัดสรรผู้ที่มีทักษะฝีมือในงานศิลปหัตถกรรม มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ และมีผลงานโดดเด่นได้ประกาศเชิดชูเกียรติ พร้อมนำสุดยอดผลงาน ที่สะท้อนตัวตนของผู้ได้รับการเชิดชูผลงานในปีนี้ทุกท่าน ได้คัดเลือกบุคคลภายใต้โครงการเชิดชูเกียรติฯ ประกอบด้วย "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" จำนวน 7 ท่าน "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" จำนวน 10 ท่าน และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" จำนวน 8 ท่าน
"ผลงานทั้ง 25 ท่านนั้น ได้ผ่านการคัดสรรผลงานและคุณสมบัติของผลงานศิลปหัตถกรรม นำผลงานมาจัดแสดงภายในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่10 พร้อมทั้งเผยแพร่เกียรติประวัติ ผลงาน เทคนิคเชิงช่าง รวมถึงการถ่ายทอดแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานหัตถกรรม ซึ่งการจัดงานโดยภาพรวมในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันตลาดงานหัตถศิลป์ไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลมีความต้องการและแสวงหางานหัตถศิลป์ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยน ต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ทำให้งานศิลปหัตถกรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งาน ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน "
"ครูศิลป์ของแผ่นดิน" เป็นหนึ่งในโครงการที่เฟ้นหาผู้มีทักษะเชิงช่างสูงที่สุดในภูมิขององค์ความรู้ เป็นบุคคลที่คร่ำหวอดในวงการศิลปหัตถกรรมที่มีเทคนิคเชิงช่างชั้นสูง และเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ตกทอดมาจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในท้องถิ่น โดย "ครูอุทัย เจียรศิริ" เป็นหนึ่งผู้ที่ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2562 ประเภทงาน "เครื่องถม" เครื่องถมและงานคร่ำโบราณ ถือเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่มีความวิจิตรบรรจงเป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ครูอุทัยเกิดในครอบครัวที่ทำงานเครื่องถม จ.นครศรีธรรมราช เริ่มเรียนรู้และฝึกทำเครื่องถมตั้งแต่อายุเพียง 15 ปีจากนายปลอด เจียรศิริ ผู้เป็นลุง และเป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เมื่อลุงย้ายมารับราชการที่วิทยาลัยเพาะช่าง จึงทำให้ครูอุทัยได้ติดตามมาเรียนรู้งานเครื่องถมที่กรุงเทพฯ ด้วย จนปี พ.ศ 2522 ก็ ได้รับเลือกให้เป็นครูสอนงานเครื่องถมให้กับสมาชิกในโครงการศิลปาชีพในสวนจิตรลดา ด้วยในเวลานั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชเสาวณีย์ ให้นำงานหัตกรรมไทยที่ใกล้จะสูญหาย กลับมาฟื้นฟูใหม่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งงาน "เครื่องถม" และ "งานคร่ำ" ถือเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมสำคัญที่ใกล้สูญหาย ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้นำงานทั้ง 2 แขนงกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง
ในขณะที่ได้สอนงานเครื่องถมอยู่ในสวนจิตรลดา ครูอุทัย บอกว่า ได้มีโอกาสรู้จักกับ "นายสมาน ไชยสุกุมาร" บุตรของขุนสารพัดช่าง (ข้าราชการกรมวังนอกในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีความรู้ ฝีมือและความเชี่ยวชาญในศิลปะงานคร่ำ) ตนจึงมีโอกาสได้ร่ำเรียน และฝึกฝนฝีมือด้านกระบวนการทำงานของ "งานคร่ำแบบโบราณ" จากนายสมาน จนเกิดเป็นทักษะความชำนาญ ทั้งในงาน "เครื่องถม" และ "งานคร่ำ" จึงยึดเป็นอาชีพหลัก ซึ่งปัจจุบันได้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องถม และงานคร่ำโบราณ ภายใต้ชื่อ "เครื่องถมอุทัย" ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเป็นงานที่ใกล้จะสูญหาย โดยเฉพาะ "งานคร่ำ" ซึ่งเป็นงานช่างโบราณที่นับวันจะหาผู้รู้ ในวิชาช่างแขนงนี้ได้ยาก เพราะนอกเหนือจากงานคร่ำที่ทำอยู่ในสวนจิตรลดาแล้ว ปัจจุบันคงมีเพียงนายอุทัยเท่านั้นที่ยังคงสืบทอดหัตถศิลป์ชั้นสูงแขนงนี้ไว้เป็นเวลากว่า 45 ปี
"ครูอุทัย" ไม่เพียงเป็นที่รู้จักกันดีในวงการช่างหัตถศิลป์ไทย แต่ผลงานยังเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ที่ทราบดีถึงผลงานที่งดงาม ทรงคุณค่า ผลงานทุกชิ้นจึงมักถูกนำไปใช้เป็นของกำนัลให้แก่แขกบ้านแขกเมืองและคนสำคัญระดับแถวหน้าของประเทศ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ "เครื่องถม" คือการผสมผสานระหว่างรูปทรงและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในชิ้นงานที่สร้างสรรค์ ลวดลายที่สร้างความโดดเด่นในผลงานเครื่องถม มีทั้งลายธรรมชาติ เช่น ลายพุดตาน ลายใบเทศ และลายแบบประดิษฐ์ หรือลายที่ใช้เล่าเรื่องราวในวรรณคดี เป็นต้น โดยผลงานจากฝีมือของครูอุทัย ได้รับรองมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับจากคนทั้งในและต่างประเทศ ผลงานที่โดดเด่นที่สำคัญๆ เช่น ได้รับคัดเลือกจากกรมศิลปากรให้เป็นผู้จัดสร้าง "บุษบกถมทอง" ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 72 พรรษา ด้านเอกลักษณ์ผลงาน "งานคร่ำ" ที่โดดเด่น คือ กระบวนการสร้างลวดลายที่เกิดจากการใช้เส้นทอง หรือเส้นเงินที่รีดเป็นเส้นลวดที่มีขนาดเล็กเท่าเส้นผม ฝังเป็นลวดลายลงไปในเหล็กด้วยทักษะความชำนาญ จนทำให้ผลงาน "คร่ำทอง" ฝีมือนายอุทัยมีความละเอียดอ่อน ประณีต สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
"ผมภาคภูมิใจในความเป็นครูที่เรามีโอกาสได้ฝากฝีมือ ได้เผยแพร่ความรู้ให้คนรุ่นหลัง ได้สอนเด็ก สอนชาวบ้านที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้เรียนหนังสือมาฝึกอาชีพ เขาทำได้ก็มีรายได้ นอกจากนี้ ยังได้ทำงานด้านอนุรักษ์ ซึ่งไม่ใช่ทำเพื่อเงิน แต่เป็นการทำเพื่อรักษาคุณค่าของงานโบราณ สิ่งสำคัญผมยังภูมิใจมากที่สามารถนำเครื่องถมนคร และงานคร่ำโบราณ กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนในปัจจุบันได้ ด้วยการดีไซน์เครื่องประดับในรูปลักษณ์ใหม่ ที่สอดรับกับรสนิยมและความต้องการของคนยุคใหม่ได้อย่างดี" ครูอุทัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit