กอปภ.ก.ประสาน 16 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 17 - 19 ธ.ค.61

17 Dec 2018
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ 14 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 17 - 19 ธันวาคม 2561 อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม รวมถึงทะเลมีคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในระยะนี้

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับหลายพื้นที่ดินเริ่มชุ่มน้ำ ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร และ ทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 17 – 19 ธันวาคม 2561

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ได้แก่ ชุมพร (อำเภอสวี อำเภอท่าแซะ อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอปะทิว อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอทุ่งตะโก) สุราษฎร์ธานี (อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอวิภาวดี อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอท่าฉาง อำเภอคีรีรัฐนิคม และอำเภอเกาะสมุย) และนครศรีธรรมราช (อำเภอสิชล อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา อำเภอขนอม อำเภอนบพิตำ อำเภอลานสกา อำเภอพิปูน และอำเภอพรหมคีรี)

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง และสตูล

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป