ปภ.แนะผู้ขับขี่ง่วงไม่ขับ...ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

17 Dec 2018
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนการง่วงหลับในขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้าลง จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะรุนแรง พร้อมแนะผู้ขับขี่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมง ไม่ทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เพราะทำให้ประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลง ไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดรถพักทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือระยะทาง 150 – 200 กิโลเมตร กรณีที่ขับรถระยะทางไกล ควรมีเพื่อนร่วมทางผลัดเปลี่ยนกันขับรถ ไม่ฝืนขับรถเมื่อมีอาการง่วงนอน เพราะเสี่ยงต่อการหลับใน ควรจอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การหลับในขณะขับรถ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากผู้ขับขี่ที่หลับในจะมีอาการเหมือนคนหมดสติชั่วขณะ ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้าลง ส่วนใหญ่มักเกิดอุบัติเหตุในลักษณะที่ผู้ขับขี่ไม่ได้เหยียบเบรก และพุ่งชนสิ่งกีดขวางอย่างรุนแรงโดยไม่มีคู่กรณี เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะผู้ขับขี่ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากง่วงหลับในขณะขับรถ ดังนี้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมง ไม่อดนอนติดต่อกันหลายวัน เพราะจะเกิดอาการง่วงนอนสะสมและหลับในขณะขับรถ ไม่ทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทเพราะทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง ควรทานยาเมื่อเดินทางถึงจุดหมายแล้ว หรือปรับเวลาทานยาเป็นช่วงก่อนนอน ร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงการขับรถทางไกลในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพักผ่อน ทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ ไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดพักรถทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะทาง 150 – 200 กิโลเมตร ในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ ที่พักรถริมทาง สถานีบริการน้ำมัน กรณีขับรถในระยะทางไกล ควรมีเพื่อนร่วมทางผลัดเปลี่ยนกันขับรถ หรือชวนพูดคุยขณะขับรถ จะช่วยป้องกันการหลับในไม่ฝืนขับรถเมื่อมีอาการง่วงนอน เพราะเสี่ยงต่อการหลับใน ควรจอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถ หรือพักหลับประมาณ 15 – 20 นาที จะช่วยคลายความอ่อนล้าที่ทำให้ง่วงหลับใน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่มีอาการง่วงนอนให้เปิดเพลงดังๆ จังหวะเร็วๆ เคี้ยวหมากฝรั่ง ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังหรือคาเฟอีน ทานขนม หรือของขบเคี้ยว เปิดกระจกรถให้แรงลมปะทะใบหน้า จิกเล็บ หรือหยิกตัวเองให้เจ็บ จะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวชั่วขณะ จากนั้นให้จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน