ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประธานเปิดงาน กล่าวว่า โครงการการแข่งขันพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าเบื้องต้น เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. และศูนย์ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรของประเทศโดยเฉพาะเยาวชนระดับอุดมศึกษา ในเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ร่วมกับการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานเป็นทีม และการพิจารณาตัดสินใจคัดกรองในด้านต่างๆ ทั้งเทคนิค ความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ และความเหมาะสมกับพื้นที่และผู้ใช้ เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
"EV Cup 2018 เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการค่ายการเรียนรู้ยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1 (EV Camp 2018) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักศึกษาเข้าร่วมมากกว่า 100 คน และได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ สถานที่ดูงาน และวิทยากรให้ความรู้จากภาคเอกชนมากกว่า 10 หน่วยงาน โดยการแข่งขัน EV Cup 2018 ครั้งนี้ มีนักศึกษามากกว่า 20 สถาบัน รวมกว่า 300 คนสมัครเข้าร่วมแข่งขัน ด้วยโจทย์ต้นแบบยานยนต์ 3-4 ล้อ เพื่อผู้สูงอายุสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันในพื้นที่ถิ่นที่พักอาศัย ภายใต้กรอบข้อกำหนดทางวิศวกรรม ซึ่งโครงการได้อบรมเนื้อหาที่จำเป็นในการพัฒนาต้นแบบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์ มุมมองเชิงธุรกิจ การรับทราบข้อกำหนดและส่วนประกอบของยานยนต์ไฟฟ้า การออกแบบโครงสร้างจัดวางระบบและความแข็งแรง เป็นต้น เพื่อต่อยอดและพัฒนาความรู้ความสามารถในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการปฏิบัติจริงอย่างมีเป้าหมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม นับเป็นการสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มเยาวชน วิศวกรรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้ใช้บัณฑิต ตลอดจนนักวิจัยภายในประเทศด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าต่อไป"
รศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดี บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ประธานการจัดการแข่งขัน กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรยานยนต์ไฟฟ้า จึงจัดให้มีกิจกรรมที่จะพัฒนาตนเองและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในระดับภาคอุดมศึกษาในการที่จะเรียนรู้และประกอบอาชีพในอนาคตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป โดยกิจกรรมในโครงการนี้จะมีการให้ความรู้ควบคู่ไปกับการแข่งขัน โดยในการแข่งขันครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นรอบแรกจะเน้นแนวคิดและความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ โดยทุกกลุ่มที่เข้าแข่งขันรอบนี้จะมีการส่งคลิปเข้ามาก่อนโดยคิดเป็นคะแนน 20% จากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน และอีก 80% มาจากการนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการการแข่งขันและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจากฝั่งเทคนิค ฝั่งธุรกิจ และฝั่งผู้ใช้ประโยชน์ โดยแต่ละทีมมีเวลา 2 นาทีแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์มีความเป็นไปได้ในการผลิตและมีความต้องการในเชิงพาณิชย์ และอีก 8 นาทีสำหรับตอบข้อซักถาม ซึ่ง 10 ทีมที่มีคะแนนสูงสุดจะได้รับทุนสนับสนุนเบื้องต้น 3,000 บาท และมี Popular Vote อีก 1 รางวัล
ผลการแข่งขันรอบที่ 1 โดย 10 ทีมที่มีคะแนนสูงสุด ได้รับรางวัลทุนสนับสนุนเบื้องต้น 3,000 บาทต่อทีม ได้แก่ ทีม S-Engin จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม มด RC.V5 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / ทีม THE CIPS จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม EVUP2018 จากมหาวิทยาลัยพะเยา / ทีม THE KING MAN MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม M E & EV จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ / ทีม THE PRINCE OF MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ทีม C-Ant จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี / ทีมสยามเทค จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) / และทีม HIGH VOLTAGE จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีมที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากคณะกรรมการ ได้แก่ ทีม THE KING MAN MSU จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทั้ง 10 ทีมที่ได้รับคัดเลือกในรอบที่ 1 จะได้รับทุนพัฒนาต้นแบบเพื่อประกวดในรอบที่ 2 ต้นเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งจะคัดไม่เกิน 10 ทีมเพื่อเข้าสู่รอบที่ 3 ในการค้นหาผู้ชนะเลิศของโครงการต้นเดือนมิถุนายน 2562 พร้อมรับโอกาสดูงานหรือฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมภายในและต่างประเทศ หรือโอกาสรับทุนพัฒนาต่อยอดต้นแบบ ตามโอกาสสมควรต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit