นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า การจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ BAM ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารจัดการสินเชื่อเงินกู้ที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้พร้อมกับพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ตามที่คณะกรรมการธนาคารเมื่อเดือนกันยายน 2561 ซึ่งอนุมัติให้ ธอส. จำหน่าย NPL ให้กับ BAM คิดเป็นมูลค่าเงินต้นคงค้างรวม 1,012 ล้านบาท และช่วยให้ NPL ของ ธอส. ลดลง 0.09% ซึ่งการจำหน่าย NPL ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น พร้อมทำให้สามารถประหยัดเวลา บุคลากร ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ โดยธนาคารสามารถนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายเป็นเงินสดสำรองในกองทุนของธนาคารเพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้าประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามพันกิจ "ทำให้คนไทยมีบ้าน" ได้เพิ่มขึ้นต่อไป ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ธอส. มี NPL ก่อนจำหน่ายให้กับ BAM ในครั้งนี้จำนวน 47,435 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.28% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวมที่ 1,108,690 ล้านบาท
ด้าน นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า การลงนามในสัญญาจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ระหว่าง ธอส. กับ BAM ในครั้งนี้ มีภาระหนี้เงินต้น 1,012 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 2,072 บัญชี โดยลูกหนี้มีทั้งที่อยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันนี้ BAM มีการลงนามซื้อ NPL จาก ธอส. รวม 5 ครั้ง คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น รวมทั้งสิ้น 28,080 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 53,222 บัญชี
ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป BAM จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก และมุ่งเน้นวิธีการเจรจาประนีประนอม เพื่อหาข้อยุติที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี BAM ก็เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลับมาเจรจาประนอมหนี้ได้ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และส่งกลับคืนระบบเศรษฐกิจตามปกติต่อไป
ปัจจุบัน BAM มี NPL ที่อยู่ในความดูแลจำนวน 88,430 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 445,100 ล้านบาท ขณะที่มี NPA จำนวน 17,464 รายการ คิดเป็นมูลค่า 47,251 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์หลักของการรับซื้อ NPL และ NPA จากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ มุ่งเน้นการเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะช่วยแก้ปัญหา และลดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
HTML::image(